คลังความรู้ :
การดำเนินคดีอาญา

: Criminal Litigation
แหล่งรวมความรู้ ทักษะ ตามภารกิจหลักด้านการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ในภารกิจการดำเนินคดีอาญาตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด 

ระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563
จำแนกตามขั้นตอนการดำเนินคดี

หลักทั่วไป :

ข้อ ๗ ภารกิจของพนักงานอัยการ
          พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพชองประชาชน โดยจักต้องกระทำด้วยความรวดเร็วเท่าเทียมกันและเป็นธรรม กับทั้งต้องกระทำให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน
          ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาและจำเลย ให้พนักงานอัยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจน สิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย ส่วนบุคคลซึ่งเป็นผู้เลียหาย และพยาน พนักงานอัยการพึงให้ความคุ้มครองและการปฏิบัติที่เหมาะสมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
หมายเหตุ แก่ไขโดยตัดข้อความในวรคสองของข้อ 5 ระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ ความว่า “ พนักงานอัยการเป็นทนายแผ่นดิน และเป็นตัวแทนของแผ่นดินในการตรวจสอบ และด้นหา ความจริงในคดีอาญา การควบคุมการดำเนินคดีอาญาของรัฐ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ของประชาชน และ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” และนำไปกำหนดเป็นข้อ 15 ของระเบียบนี้

ข้อ ๘ หลักการดำเนินคดี
          พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุด
          เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานอัยการ การเรียกคืนสำนวน การเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินคดี หรือการโอนสำนวนจะกระทำมิได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเป็นกรณีที่จะเสียความเป็นอิสระ ในการพิจารณาสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริต รวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติ ทั้งปวง ให้ผู้บังคับบัญชาเรียกคืนสำนวน หรือโอนสำนวนโดยเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน แล้วให้ รายงานอธิบดีอัยการหรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี เพื่อทราบ
หมายเหตุ ได้ยกเลิกความเดิมตามข้อ 6 ตามระเบียบฯ พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติมใหม่

ข้อ ๙ การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ
          อธิบดีอัยการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้าง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ หน่วยงานภายในที่กำหนดในกฎหมาย ประกาศคณะกรรมการอัยการ และคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผน จัดองค์กรบริหารงานบุคคล อำนวยการ ประสานงาน การปฏิบัติราชการ ควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผลและรายงานผลการปฏิบัติราชการในความรับผิดชอบให้เป็นไป ตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ และคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุด
           รองอธิบดีอัยการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้าง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ของหน่วยงานภายในที่กำหนดในกฎหมาย ประกาศคณะกรรมการอัยการ และคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด รองจากอธิบดีอัยการ มีอำนาจและหน้าที่อำนวยการ ประสานงานการปฏิบัติราชการ ควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานผลการปฏิบัติราชการในความรับผิดชอบให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ และคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุดและอธิบดีอัยการ
หัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้าง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ของหน่วยงานภายในที่กำหนดในกฎหมาย ประกาศคณะกรรมการอัยการ และคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจและหน้าที่อำนวยการ ประสานงานการปฏิบัติราชการ ควบคุม ตรวจสอบการดำเนินคดี ให้เป็นไป ตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ และคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ และรองอธิบดีอัยการ

ข้อ ๑๐ การมอบหมายให้ดำเนินคดี
          การมอบหมายให้ดำเนินคดี การควบคุมและการตรวจสอบ เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา
          ผู้บังคับบัญชาอาจกำหนดการแบ่งภาระหน้าที่ หรือมอบหมายงานให้พนักงานอัยการในบังคับบัญชา คนใดคนหนึ่งปฏิบัติงาน หรือช่วยกลั่นกรองงานเป็นการทั่วไป หรือเป็นการเฉพาะเรื่องก็ได้
          ผู้บังคับบัญชาอาจเรียกสำนวนคดีหนึ่งคดีใดที่อยู่ในเขตอำนาจมาตรวจสอบพิจารณาหรือดำเนินคดี เสียเอง หรือจะมอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดดำเนินคดีแทนก็ได้ และในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็น หรือกลับคำสั่งเดิม ให้เสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีอัยการเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็นหรือคำสั่งเดิมนั้น เป็นของอธิบดีอัยการ ให้เสนออัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาสั่ง

ข้อ ๑๑ การหารือ
           ในกรณีมีความจำเป็นจะต้องหารือในปัญหาหรือข้อขัดข้องอันเกิดจากการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้หารือไปยังอัยการสูงสุด โดยเสนอผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 7 วรรคสองของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๑๒ การอุดช่องว่างของระเบียบ
           ในกรณีที่ระเบียบนี้มิได้กำหนดไว้ ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจพิจารณาปฏิบัติไปตามที่เห็นสมควร โดยไม่ให้เสียหายแก่ราชการ
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 7 วรรคหนึ่งของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๑๓ การร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ
         ในการดำเนินคดี หากจำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและไม่ให้เสียหายแก่ราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 11 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๑๔ การรายงานข้อบกพร่องของกฎหมาย
           ในการดำเนินคดี หากพบข้อบกพร่องหรือช่องว่างของกฎหมาย ให้พนักงานอัยการรีบรายงาน พร้อมด้วยความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขโดยเสนอผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไปยังอัยการสูงสุด ทั้งนี้ไม่ว่า คดีจะเสร็จเด็ดขาดแล้วหรือไม่ก็ตาม
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 12  ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 

ข้อ ๑๕ บทบาทของพนักงานอัยการ
          พนักงานอัยการเป็นทนายแผ่นดิน และเป็นตัวแทนของแผ่นดินในการตรวจสอบและค้นหาความจริง ในคดีอาญา การควบคุมการดำเนินคดีของรัฐ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน รวมทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 5 วรรคสองของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๑๖ พนักงานอัยการกับการสอบสวน
           การให้คำแนะนำปรึกษาในการสืบสวนและสอบสวน การเข้าร่วมในการสอบสวนและร่วมทำสำนวนสอบสวนตามที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร้องขอ เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พนักงานอัยการที่พึงกระทำ ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ เป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 25 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๑๗ การให้คำแนะนำปรึกษาและเข้าร่วมสอบสวน
           ในกรณีหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ได้ขอความร่วมมือพนักงานอัยการให้คำแนะนำ ปรึกษาเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน หรือขอให้เข้าร่วมในการสอบสวนนั้น พนักงานอัยการ พึงให้คำแนะนำปรึกษา หรือเข้าร่วมในการสอบสวน แล้วทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นถึงอัยการสูงสุดเพื่อทราบ
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 26 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๑๘ กรณีพนักงานสอบสวนบกพร่องหรือไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
           ในการดำเนินคดี ถ้าพนักงานอัยการไม่ได้รับความร่วมมือหรือพบข้อบกพร่องของพนักงานสอบสวนอันอาจทำให้คดีเสียหายได้ พนักงานอัยการอาจแนะนำพนักงานสอบสวนโดยตรงหรือทำหนังสือแจ้งข้อบกพร่องและวิธีแก้ไขหรือป้องกัน โดยทำเป็นความเห็นเสนอไปยังผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวน
          ในกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้หัวหน้าพนักงานอัยการทำความเห็นเสนอตามลำดับชั้นถึงอธิบดีอัยการหรืออัยการสูงสุดเพื่อแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวน
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดอยู่ในข้อ 27 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 โดยวรรคหนึ่งได้แก้ไขข้อความเดิมความว่า “ในการดำเนินคดีอาญา ถ้าพนักงานอัยการไม่ได้รับความร่วมมือหรือพบข้อบกพร่องของพนักงานสอบสวนอันอาจทำให้คดีเสียหายได้ พนักงานอัยการอาจแนะนำพนักงานสอบสวนโดยตรงหรือทำหนังสือชี้แจงข้อบกพร่องและวิธีแก้ไขหรือป้องกัน โดยทำเป็นความเห็นเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี 

ก.หลักการ
ข้อ ๑๙ หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
          พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน ให้พ้นจากการล่วงละเมิด ทั้งนี้ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
          เมื่อความปรากฏต่อพนักงานอัยการเองหรือจากการร้องขอว่า มีการกระทำซึ่งกระทบสิทธิและเสรีภาพ ในชีวิตและร่างกายของประชาชน พนักงานอัยการต้องรีบดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 41 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 โดยแก้ไขเพิ่มเติมใหม่  

ข. ผู้มีสิทธิขอความคุ้มครอง
ข้อ ๒๑ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอและการตรวจสอบข้อเท็จจริง
           บุคคลผู้ถูกคุมขังหรือสามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง มีสิทธิยื่นคำร้องขอตามหมวดนี้
เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพต่อไป ให้พนักงานอัยการดำเนินการตรวจสอบโดย
           (๑) แจ้งให้บุคคลที่เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมาพบพนักงานอัยการแล้วสอบปากคำไว้
           (๒) ถ้าจำเป็น ให้ออกคำสั่งเรียกบุคคลที่เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำต่อพนักงานอัยการ ตามความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
           (๓) ดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร
           การบันทึกคำให้การหรือบันทึกอื่นใดตามความในข้อนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยอนุโลม
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 43 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 โดยปรับกฎหมายให้เป็นปัจจุบัน และตัดความวรรคสี่เดิมออก  

ค. วิธีการปฏิบัติ
ข้อ ๒๐ วิธีปฏิบัติเบื้องต้น
           เมื่อมีกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามข้อ ๑๙ กล่าวคือ เมื่อปรากฏว่า ไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ระหว่างสอบสวนตามนัยมาตรา ๗๒ (๒) แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา หรือเมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ตามนัยมาตรา ๙๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ไม่ว่ากรณีจะเกิดขึ้น ก่อนหรือหลังจากที่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนหรือได้มีการสอบสวนเรื่องนั้นหรือไม่ ให้หัวหน้าพนักงานอัยการสั่งจ่ายเรื่องให้พนักงานอัยการคนใดคนหนึ่งดำเนินการโดยไม่ชักช้า และจัดลงสารบบคดี เป็นคดีประเภทคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 42 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547  

ข้อ ๒๒ การพิจารณาและสั่งสำนวน
           เมื่อพนักงานอัยการได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจนสิ้นกระแสความแล้ว ให้พิจารณาทำความเห็นเสนอหัวหน้าพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งยื่นคำร้องหรือสั่งยุติเรื่อง
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 44 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๒๓ การดำเนินการตามมาตรา ๗๒ (๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          เมื่อพนักงานอัยการเห็นว่า เป็นกรณีจะต้องดำเนินการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๗๒ (๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่มีความจำเป็นต้องขังบุคคลไว้ระหว่างสอบสวน ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายปล่อยผู้ต้องหาไปทันที
กรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องขังบุคคลไว้ระหว่างสอบสวน เช่น ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่มีพฤติการณ์ว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 45 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 โดยมีแก้ไขข้อความในวรรคสองเดิม “ กรณีที่ไม่มีความจำเป็นต้องขังบุคคลไว้ระหว่างสอบสวน เช่น ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีและจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งไม่มีพฤติการณ์ว่าจะก่ออันตรายโดยไปกระทำความผิดซ้ำ”

ข้อ ๒๔ การดำเนินการคุ้มครองบุคคลผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
          เมื่อพนักงานอัยการเห็นว่า เป็นกรณีจะต้องดำเนินการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๙๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะบุคคลต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อย
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 46 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 โดยมีแก้ไขข้อความเดิม “เมื่อพนักงานอัยการเห็นว่า เป็นกรณีจะต้องดำเนินการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 240 เพราะบุคคลต้องถูกคุมขังโดยผิดกฎหมาย หรือถูกจำคุกผิดจากคำพิพากษา หรือบุคคลถูกคุมขังโดยบุคคลอื่น โดยไม,มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อย”

ข้อ ๒๕ การสั่งยุติเรื่องตามข้อ ๒๓ หรือข้อ ๒๔
          ในกรณีที่ข้อเท็จจริงไม่มีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการตามข้อ ๒๓ หรือข้อ ๒๔ ให้หัวหน้าพนักงานอัยการสั่งยุติเรื่องและเสนออธิบดีอัยการเพื่อทราบ แล้วแจ้งให้ผู้ร้องทราบด้วย
          คำสั่งยุติเรื่องของพนักงานอัยการตามวรรคหนึ่งไม่ตัดสิทธิที่จะร้องขอต่อผู้บังคับบัญชาของพนักงานอัยการ ให้ทบทวนคำสั่งนั้น
หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 47 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547

ข้อ ๒๖ การรับสำนวนการสอบสวนและการลงสารบบ
           ก่อนรับสำนวนการสอบสวน ให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการตรวจสอบบุคคลหรือ พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี
           เมื่อได้รับสำนวนการสอบสวนแล้ว ให้ดำเนินการลงรับสำนวนเข้าไว้ในสารบบ
           การดำเนินการตามข้อนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด

ข้อ ๒๗ ประเภทของสารบบและแบบพิมพ์
            ประเภทของสารบบความอาญาและสำนวน การบันทึกสารบบ การจำหน่ายสารบบและแบบพิมพ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด 

ข้อ ๒๘ การรับสำนวนรู้ตัวผู้กระทำความผิด
           การรับสำนวนรู้ตัวผู้กระทำความผิดให้ปฏิบัติ ดังนี้
           (๑) สำนวนรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่เรียกหรือจับตัวไม่ได้ตามมาตรา ๑๔๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น     หมายถึง สำนวนที่ยังเรียกหรือจับตัวผู้ต้องหายังไม่ได้และไม่มีตัวผู้ต้องหาปรากฏต่อพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือควรสั่งไม่ฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการรับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณาได้

หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 13 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 

          (๒) สำนวนรู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยตัวชั่วคราว หรือเชื่อว่า คงได้ตัวมา      เมื่อออกหมายเรียกตามมาตรา ๑๔๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมายถึง สำนวนที่มีตัวผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุม ขัง หรือปล่อยตัวชั่วคราวของศาลหรือพนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนสามารถได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีความเห็น ควรสั่งฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการรับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณาได้เมื่อเช้าหลักเกณฑ์ดังนี้
          (ก) พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวผู้ต้องหามาพร้อมสำนวน แม้ว่าผู้ต้องหาซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราว จะถูกสอบสวนเกินกำหนดเวลาสามเดือนหรือหกเดือน ตามความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วก็ตาม
          (ข) หากผู้ต้องหาขังอยู่ต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในอำนาจศาลที่พนักงานอัยการผู้รับสำนวนไว้จะยื่นฟ้องได้
          (ค) ถ้าผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่นที่เรือนจำซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลอื่นนั้น ให้นำความในข้อ ๒๑๒ มาใช้บังคับ
          (ง) กรณีพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว และต่อมาพนักงานสอบสวนไม่สามารถ ส่งตัวผู้ต้องหาได้เนื่องจากหลบหนี

หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 14 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 โดยมีการแก้ไขความเดิม 

ข้อ ๒๙ การสั่งจ่ายสำนวน และการคืนสำนวน
            หัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งจ่ายสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการในบังคับบัญชา และต้องลงชื่อในคำสั่งพร้อมวันเดือนปีที่สั่ง แม้จะสั่งจ่ายให้ตนเองก็ตาม และการคืนสำนวนการสอบสวน ให้หัวหน้าพนักงานอัยการ เป็นผู้พิจารณาสั่ง
        กรณีที่คำสั่งหรือระเบียบนี้มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือมิไต้กำหนดวิธีปฏิบัติเป็นกรณีเฉพาะเรื่องไว้ การคืนสำนวนการสอบสวนในกรณีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนั้น ให้พนักงานอัยการประจำศาลนั้น ๆ ส่งสำนวนคดีนั้นคืนพนักงานสอบสวนเพื่อส่งไปยังพนักงานอัยการประจำศาลที่คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ

หมายเหตุ ความเดิมกำหนดในข้อ 10 ของระเบียบฯ พ.ศ. 2547 โดยมีการแก้ไขความในวรรคหนึ่ง 

ข้อ ๓๐ การจ่ายสำนวนคดีสำคัญ
           คดีสำคัญ หากหัวหน้าพนักงานอัยการเห็นสมควร จะสั่งจ่ายสำนวนให้องค์คณะหรือคณะทำงาน เป็นผู้พิจารณาก็ได้ และให้ระบุชื่อพนักงานอัยการหนึ่งคนเป็นเจ้าของสำนวน
        คดีอาญานอกจากที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง เมื่อหัวหน้าพนักงานอัยการเห็นสมควร จะดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้ 

Address

สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายบริหารจัดการความรู้  สำนักงานวิชาการ
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์
เขตหลักสี่  กรุงเทพฯ 10210 

Contacts

Email: kmcenter@ago.go.th
Phone: 02-142-1499 
Fax: 02-143-9475