คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ : คดีแชร์ชม้อย ทิพย์โส

คดีนี้กล่าวหา นางชม้อย ทิพย์โส หรือประเสริฐศรี กับพวกรวม ๑๐ คน ผู้ต้องหาในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน  เหตุเกิดเมื่อระหว่างปี ๒๕๑๗  ถึงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๘ และระหว่างวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๘ ที่แขวงสายไหม เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

ข้อเท็จจริง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นางชม้อย ทิพย์โส ได้บังอาจใช้อุบายหลอกลวงประชาชนทั่วไป  ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกบิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง โดยทำการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่า  นางชม้อยรับกู้ยืมเงินจากประชาชนไม่จำกัดจำนวน  เพื่อนำเงินไปลงทุนค้าน้ำมัน  โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของเงินปันผลในอัตราร้อยละ ๖.๕ ต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าสถาบันการเงินตามกฎหมายจะพึงจ่ายได้ ประชาชนที่นำเงินมาให้นางชม้อยกู้ยืมในระยะแรก ต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสม่ำเสมอตรงต่อเวลา  และมีสิทธิได้รับการถอนเงินต้นคืนได้โดยตลอด ทำให้มีการพูดกันปากต่อปากแพร่หลายไปสู่ในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการหักเงินภาษีการค้าน้ำมันและค่าเด็กปั๊มทุกสิ้นปีจากผู้ที่นำเงินไปให้นางชม้อยกู้ยืม อีกทั้งนางชม้อยยังทำงานอยู่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยอีกด้วย ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปและผู้เสียหายหลงเชื่อ นำเงินไปให้ผู้ต้องการกู้ยืม โดยมีผู้ถูกหลอกลวงกว่า ๑๖,๐๐๐ ราย รวมเป็นเงินกว่าสี่พันล้านบาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานบ่งชี้ว่านางชม้อยทำการค้าน้ำมันหรือมีกิจการค้าน้ำมันทั้งในหรือนอกประเทศแต่อย่างใด

นางชม้อยได้ใช้บ้านพักของตนเองและที่อื่นเป็นสถานที่รับกู้ยืมเงิน และนอกจากนี้ยังใช้หัวหน้าสายซึ่งเป็นประชนชนที่หลงเชื่อว่า นางชม้อยประกอบกิจการค้าน้ำมันจริง ชักชวนแพร่ข่าวแก่ประชาชนทั่วไปให้หลงเชื่อนำเงินฝากมาให้นางชม้อยกู้ยืม ซึ่งนางชม้อยได้ออกหลักฐานสัญญากู้ยืมเงินหรือเช็คธนาคารสั่งจ่ายเงินลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้แก่ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยนางชม้อยเรียกการรับกู้ยืมเงินนี้ว่า เป็นการเล่นแชร์ชนิดหนึ่ง  ซึ่งประชาชนเรียกว่า “แชร์น้ำมัน” ที่ลงทุนครั้งเดียวได้ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูงและแน่นอน ทั้งมีสิทธิขอรับเงินต้นคืนได้ตามข้อตกลง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วนางชม้อยไม่ได้นำเงินที่กู้ไปจากประชาชนไประกอบธุรกิจค้าน้ำมัน ตามที่ได้รับรองไว้กับประชาชนไม่ แต่เป็นการนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมรายใหม่มาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมรายก่อน โดยที่นางชม้อยรู้อยู่แล้วว่าจะไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายในอัตราร้อยละ ๖.๕ ต่อเดือนได้ การรับกู้ยืมเงินของนางชม้อยได้ดำเนินมาโดยต่อเนื่องและเป็นประจำทุกเดือน

จนเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มีผลบังคับใช้ นางชม้อยยังบังอาจฝ่าฝืนกฎหมายโดยยังรับกู้ยืมเงินจากประชาชนตามปกติเนื่องจากมีผู้เสียหาย และประชาชนนำเงินมาให้นางชม้อยกู้ยืมมากขึ้นเป็นลำดับ จนนางชม้อยแต่ผู้เดียวไม่สามารถดำเนินการเองได้ จึงได้ให้พวกอีก ๙ คน ช่วยเหลือ โดยการเปิดบัญชีในนามพวกทั้ง ๙ คน ไว้ตามธนาคารต่างๆ เพื่อดำเนินการธุรกิจดังกล่าว ระหว่างนั้นผู้ต้องหาที่ ๑ กับพวกได้ร่วมกันทยอยเบียดบังเอาเงินที่กู้ยืมจากประชาชน และผู้เสียหายบางส่วนไปเป็นผลประโยชน์ของตนกับนำไปซื้อทรัพย์สินค่าเป็นจำนวนมากปกปิดอำพรางและซุกซ่อนไว้อีก ในที่สุดประชาชนนำเงินมาให้นางชม้อยกู้ยืมมากพอแล้ว นางชม้อยกับพวกก็ร่วมกันเอาเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนแล้วหลบหนีไปเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ และถูกจับได้เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๘

พนักงานอัยการสั่งฟ้องนางชม้อย กับพวกรวม ๘ คน เป็นจำเลยต่อศาล ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ และให้นางชม้อยกับพวกร่วมกันคืนต้นเงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไป ส่วนพวกอีก ๒ คน คนหนึ่งสั่งไม่ฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ส่วนอีกคนหนึ่งกันไว้เป็นพยานบุคคลเพื่อมัดตัวนางชม้อย คดีใช้เวลาในการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยรวม ๔ ปี พนักงานอัยการสืบพยานโจทก์กว่า ๖๐๐ คน

ศาลพิพากษาว่านางชม้อยกับพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนรวม ๒๓,๕๑๙ กระทง จำคุกคนละ ๑๑๗,๕๙๕ ปี ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ กระทงละ ๑๐ ปี รวม ๓,๖๔๑ กระทง จำคุกคนละ ๓๖,๔๑๐ ปีรวมจำคุกนางชม้อยกับพวกคนละ ๑๕๔,๐๐๕ ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกทั้งสิ้นคนละ ๒๐ ปี เพราะประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกไม่เกิน ๒๐ ปี และให้นางชม้อยกับพวกร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงด้วย

นางชม้อย จำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง ๗ ปี ๑๑ เดือน ๕ วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ ๒ ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๓๖

Similar Posts