ห้องสมุดกฎหมายโบราณ พิพิธภัณฑ์ และจดหมายเหตุอัยการไทย
แหล่งเรียนรู้ตลอดชีพทางกฎหมาย


สถาบันอัยการในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับศตวรรษ โดยปรากฏหลักฐานในกฎหมายมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ให้มีการแต่งตั้งพนักงานในตำแหน่ง เจ้าพนักงานรักษาพระอัยการ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบต่อข้อราชการทางด้านกฎหมายของบ้านเมืองทั้งในด้านคดีความและการถวายความเห็นทางกฎหมายต่อพระมหากษัตริย์ ส่วนในบรรดาหัวเมืองนั้น ได้แต่งตั้งให้มีเจ้าพนักงานในตำแหน่ง ยกกระบัตร ทำหน้าที่ตรวจราชการต่างพระเนตรพระกรรณ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ประชากรเพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นของการใช้กฎหมายของฝ่ายบริหารก็มีมากขึ้น แต่กฎหมายและกระบวนการพิจารณาความยังมีความล้าสมัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศและทรงสถาปนา กรมอัยการ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๖ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อมาอีก ๒๙ ปี กรมอัยการได้แยกออกจากกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานอิสระที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีและเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานอัยการสูงสุด มีอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าส่วนราชการ

สถาบันอัยการแนวใหม่ได้เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ รวมระยะเวลากว่า ๑๐๐ ปี ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานจึงส่งผลให้วัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนเอกสารสำคัญของสำนักงานอัยการทั่วประเทศเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา และเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวาระ ๑๐๐ ปี สถาบันอัยการไทย จึงมีโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์อัยการไทยและห้องสมุดกฎหมายโบราณขึ้น โดยได้แนวคิดมาจากศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ ท่านอัยการสูงสุดคนแรก ได้ดำริที่จะจัดทำห้องสมุดกฎหมายโบราณขึ้น

เนื่องจากมีการค้นพบหนังสือกฎหมายเก่าเป็นจำนวนมากที่จังหวัดเลย โดยนางสาวเอมอร ตันเถียร ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ และท่านได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพย์สมบัติของกรมอัยการตั้งแต่ครั้งบรรพชน จึงมอบหมายให้ นายสุชาติ ไตรประสิทธิ ประธานคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปี สถาบันอัยการไทย ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นสถานที่จัดเก็บรวบรวมทรัพยากรที่ทรงคุณค่าต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการดำเนินการจำนวน ๒๐ ล้านบาท แต่ขณะนั้นรัฐบาลไม่อาจจัดสรรเงินงบประมาณให้ได้ หากด้วยพระเมตตาแห่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกที่ประทานพระอนุญาตให้สำนักงานอัยการสูงสุด สร้างพระไพรีพินาศ จำนวน ๒,๕๓๖ องค์ เพื่อให้ประชาชนเช่าสักการะและนำเงินสมทบทุนการสร้างพิพิธภัณฑ์อัยการไทย ทั้งความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้เงินจำนวนมากพอที่จะดำเนินการ โดยมี นายโกสินทร์ ชิตามร เป็นมัณฑนากรผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์อัยการเป็นสถานที่รวบรวมสิ่งที่ทรงคุณค่าของอัยการตั้งแต่โบราณ มีความสมบูรณ์อย่างสูงสุด เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะสำรวจทรัพยากรอัยการ โดยมอบหมายให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ข้าราชการอัยการเป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยบรรณารักษ์ คือ นางสาวเอมอร ตันเถียร และนางสาวอาริยา ตันเถียร เป็นผู้เดินทางเก็บรวบรวมหนังสือ เอกสาร วัสดุ ครุภัณฑ์ที่อยู่ประจำสำนักงานอัยการทั่วประเทศ จำนวน ๑๗๗ แห่ง จาก ๗๓ จังหวัด ทำให้ได้มาซึ่งครุภัณฑ์จำนวน ๙๓๐ ชิ้น และหนังสือจำนวน ๒๕,๐๐๐ เล่ม มาดำเนินการจัดหมวดหมู่ ซึ่งการดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์อัยการไทยสำเร็จลุล่วงได้ด้วยความร่วมมือทุ่มเทแรงกายแรงใจของบุคลากรห้องสมุด จำนวน ๗ คน โดยใช้เวลาในการดำเนินการเพียง ๔ เดือน แล้วเสร็จทันวันจัดงาน ๑๐๐ ปี สถาบันอัยการไทย เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖

ตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารรัชดาภิเษก ชั้นที่ ๑๑ พื้นที่จัดแสดงขนาด ๕๘๐ ตารางเมตร ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง ๓ ส่วน คือ

พิพิธภัณฑ์ส่วนที่ ๑

พิพิธภัณฑ์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีขนาดเป็นครึ่งเท่าของพระองค์จริง จำลองพระพักตร์มาจากปราสาทพระเทพบิดร ตามคำบอกเล่าของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)ซึ่งต่างจากวงพระพักตร์ที่ประดิษฐานอยู่ที่สะพานพุทธ นอกจากนี้ในแต่ละส่วนของห้องมีมุมแสดงนิทรรศการถาวร

พิพิธภัณฑ์ส่วนที่ ๒

ห้องสมุดกฎหมายโบราณ ซึ่งรวบรวมหนังสือกฎหมายหายากกว่า ๒๕,๐๐๐ เล่ม เช่น กฎหมายตราสามดวง คำพิพากษากรรมการฎีกาบางเรื่อง หนังสือราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เล่ม ๑-๒๕ หนังสือกฎหมายเก่าหายากของขุนหลวงพระยาไกรสี พระนิพนธ์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ หนังสือกฎหมายเก่าซึ่งไม่มีในห้องสมุดอื่น อาทิเช่น หนังสือสมุดคู่มือหมอกฎหมาย รวมทั้งห้องบรรพอัยการ ซึ่งรวบรวมภาพถ่ายของอดีตผู้บริหารสูงสุดของสถาบันอัยการ ตั้งแต่อธิบดีท่านแรก คือ ขุนหลวงพระยาไกรสี จนถึงท่านที่ ๑๖ พร้อมภาพถ่ายของสำนักงานอัยการสูงสุดในอดีต และห้องพระโบราณ เป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ซึ่งรวบรวมจากสำนักงานอัยการจังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงวัตถุโบราณอื่นๆ อาทิเช่น แหวนโบราณ จานสังคโลก เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์ส่วนที่

เอกสารจดหมายเหตุอัยการ ซึ่งรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุอัยการ ซึ่งเป็นเอกสารราชการ จำนวน๒๕,๐๐๐ แผ่น ตั้งแต่สมัยกรมอัยการขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม จนกระทั่งย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย อาทิเช่น เอกสารสำคัญแผ่นเดียวในประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งที่เรียกขานอัยการสมัยก่อนว่า ยกกระบัตร เมื่อปี ๒๔๕๗


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๒๗๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระอักษรสุนทรศาสตร์(ทองดี)ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาพระบรมอัฐิขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกและสมเด็จพระราชชนนีดาวเรือง มีพระเชษฐา พระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีรวม ๕ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระเจ้ารามณรงค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระอนุชาและพระขนิษฐาต่างพระชนนีอีก ๒ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุ กรมหลวงนรินทรเทวี

เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต(ต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)ครั้นพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย ๑ พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม เมื่อพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง “หลวงยกกระบัตร” ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และได้สมรสกับคุณนาค(ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี)ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม

ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษาและได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตามคำชักชวนของพระมหามนตรี(บุญมา)ต่อมาคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “พระราชริน (พระราชวรินทร์)” เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และทรงย้ายนิวาสสถานมาอยู่ที่บริเวณวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองพิมายซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าเมืองพิมายอยู่ พระองค์และพระมหามนตรีได้รับพระราชโองการให้ยกทัพร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากการศึกในครั้งนี้ พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอไภยรณฤทธิ์ ” จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จที่มีความชอบในการสงครามครั้งนี้

หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางสำเร็จแล้ว มีพระราชดำริว่าเจ้าพระยาจักรีแขกนั้นมิแกล้วกล้าในการสงคราม จึงโปรดตั้งพระองค์ขึ้นเป็น “พระยายมราช”เสนาธิบดีกรมพระนครบาลโดยให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรีแขกถึงแก่กรรมแล้ว พระองค์จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาจักรี ” อัครมหาเสนากรมมหาดไทย พร้อมทั้งโปรดให้เป็นแม่ทัพไปตีกรุงกัมพูชาโดยสามารถตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และเมืองพุทไธเพชร (เมืองบันทายมาศ)ได้ เมื่อสิ้นสงครามสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ นักองค์รามาธิบดีไปครองเมืองพุทไธเพชร ให้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา และมีพระดำรัสให้เจ้าพระยาจักรีและพระยาโกษาธิบดีอยู่ช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชร จนกว่าเหตุการณ์จะสงบราบคาบ

พระองค์เป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมรและลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา
ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก” และทรงได้รับพระราชทานให้ทรงเสลี่ยงงากลั้นกลดและมีเครื่องยศเสมอยศเจ้าต่างกรม

เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี คือ พระยาสรรค์ ได้ตั้งตัวเป็นกบฏ ขณะนั้นพระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จกลับจากกัมพูชา มาที่กรุงธนบุรี แล้วปราบปรามกบฏและนำสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปสำเร็จโทษด้วยการ “ตัดพระเศียร” เหตุเพราะมีพระสติวิปลาส สมัยกรุงธนบุรีจึงสิ้นสุดลง

หลังจากนั้นในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ หลังจากที่พระองค์ทรงปราบปรามกบฏเรียบร้อยแล้ว ทางอาณาประชาราษฎร์ได้อัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ” หรือเรียกอย่างสังเขปว่า “กรุงเทพมหานคร”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร (กรุงรัตนโกสินทร์)เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่เรียกว่า “สงครามเก้าทัพ “

นอกจากนี้พระองค์ทรงพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง ๓ ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราช วราราม และวัดโมฬีโลกยาราม ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี

การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ขึ้น ปีขาล จ.ศ. ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวัง สืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรา ยุทธยา มหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์” นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งต่างๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานี ได้แก่ ป้อมปราการ คลอง ถนน และสะพานต่างๆ มากมาย

หลังจากการฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงพระประชวรด้วยพระโรคชรา พระอาการทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณรวมพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี

พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ประโคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๕๔ พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจักให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคา

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตามวันพระบรมราชสมภพ สร้างราว พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๑๑ สร้างด้วยทองคำ บาตร ลงยา สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบรมอัยกาธิราช สูง ๒๙.๕๐ เซนติเมตร ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน พระพุทธรูปประจำรัชกาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ภายใต้พระเศวตฉัตร ๓ ชั้น สร้างราว พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔ หน้าตักกว้าง ๘.๓ ซ.ม. ความสูงเฉพาะองค์พระ ๑๒.๕ ซ.ม. ความสูงรวม ๔๖.๕ ซ.ม. ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นตรางารูป “ปทุมอุณาโลม” หรือ “มหาอุณาโลม” หมายถึง ตาที่สามของพระอิศวร ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีอักขระ “อุ” แบบอักษรขอมอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็นดอกไม้ที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา

เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอักนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรบรมาธิเบศโลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร”

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระบรมนามาภิไธยแก่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก “

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปี รัฐบาลได้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ   พ.ศ. ๒๕๒๕ ในการนี้รัฐบาลและปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์โดยถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระปรมาภิไธย ออกพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช “

แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 

 พิพิธภัณฑ์ส่วนที่ ๑ เป็นส่วนที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีขนาดครึ่งเท่าของพระองค์จริง จำลองพระพักตร์มาจากปราสาทพระเทพบิดร ตามคำบอกเล่าของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)พรหมรังสี ซึ่งต่างจากวงพระพักตร์ที่ประดิษฐานอยู่ที่สะพานพุทธ พระองค์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุดเปรียบเสมือน พระบิดาแห่งอัยการไทย เนื่องจากก่อนที่พระองค์จะได้รับการสถาปนาเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์เคยดำรงตำแหน่งยกกระบัตรเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เรียกขานอัยการในสมัยก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๗

พระไพศรพณ์ เป็นเทวดา มีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยยุติธรรมในสวรรค์ โดยมือขวาถือตะบอง มือซ้ายยกเสมอหน้าอกแสดงการห้ามปรามมิให้เหล่าเทวดากระทำความผิด

พระไพศรพณ์ มีลักษณะคล้ายกับท้าวกุเวร (หรือท้าวเวสสุวรรณ) ซึ่งตามตำนานที่บอกเล่ากันมาถือว่าเป็นเทพองค์เดียวกัน ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของอัยการมาช้านาน คาดว่าตั้งแต่แรกตั้งกรมอัยการเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว เนื่องจากยกกระบัตร (ชื่อเรียกอัยการในสมัยโบราณ) หรืออัยการในปัจจุบันก็มีหน้าที่รักษาความยุติธรรมและกฎหมายเช่นเดียวกับหน้าที่ของพระไพศรพณ์ในสวรรค์ แต่ยังตรวจไม่พบหลักฐานว่าได้มีประกาศเป็นทางการให้ใช้รูปพระไพศรพณ์เป็นเครื่องหมายราชการของอัยการตั้งแต่เมื่อใด


พระไพศรพณ์กับการเป็นสัญลักษณ์ของอัยการ

  “อัยการ” เป็นข้าราชการหน่วยราชการอิสระในนาม “สำนักงานอัยการสูงสุด” ไม่สังกัดกระทรวงใดแต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามระบบราชการของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานยุติธรรม

ตามพระราชกฤษฎีกาเครื่องแบบข้าราชการอัยการและระเบียบการแต่งกายฯ พ.ศ. ๒๕๒๔ กำหนดเครื่องแบบข้าราชการอัยการ ซึ่งรวมถึงเครื่องหมายที่ประดับอินทรธนู เมื่อตรวจสอบดูปรากฏคำว่า “รูปพระไพศรพณ์” เป็นโลหะสีทองซึ่งกฎหมายนี้กำหนดวิธีการใช้ ดังนี้

เครื่องแบบพิธีการ เช่น เครื่องแบบปกติขาว เครื่องแบบเต็มยศ ฯลฯ ให้ติดทับอยู่บนอินทรธนูค่อนมาทางด้านไหล่

เครื่องแบบสีกากีคอพับ กับเครื่องแบบสีกากีคอแบะ ให้ประดับทับอยู่บนพื้นอินทรธนูภายในขมวดวงกลม ฐานของรูปพระไพศรพณ์อยู่เหนือแถบต้น (กรณีอัยการชั้น ๓ ขึ้นไป) หรืออยู่บนแถบที่สองของอินทรธนู (กรณีอัยการชั้น ๑ และชั้น ๒)

ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ข้าราชการอัยการใช้เครื่องหมายนี้มาประดับบนอินทรธนูเพื่อบ่งแสดงให้เห็นว่าข้าราชการอัยการแตกต่างจากข้าราชการพลเรือน

ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ใช้รูปท้าวกุเวร (หรือท้าวเวสสุวรรณ)เป็นเครื่องหมายราชการของกรมสารวัตรทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยของฝ่ายทหาร ส่วนพระไพศรพณ์ยังคงเป็นสัญลักษณ์ประดับบ่าเสื้อเครื่องแบบอัยการทั้งสองข้างตลอดมา

ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินวางอยู่บนตราชั่ง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของนักกฎหมาย ประกอบกับรูปพระแว่นสุริยกานต์ พระขรรค์ รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์ รวมกันเป็นเครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด รูปตราใหม่นี้ถือเป็นเครื่องหมายราชการของหน่วยงานตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๕ ในวาระที่หน่วยงานของอัยการได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพจากหน่วยงานระดับกรม ขึ้น กับกระทรวงมหาดไทย มาเป็นสำนักงานที่ไม่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ได้ขยายบทบาทของอัยการออกไปมาก รวมถึงการกำหนดหน้าที่ในเรื่องทางการเมือง เนื่องจากอัยการมีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมทางการเมืองด้วย

 ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ส่วนที่ ๓ ติดกับห้องพระโบราณ เป็นสถานที่รวบรวมภาพถ่ายอดีตผู้บริหารสูงสุดของสถาบันอัยการ ตั้งแต่ขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีท่านแรก จนถึงผู้บริหารสูงสุดท่านที่ ๑๖ และรวบรวมภาพถ่ายของสำนักงานอัยการในอดีต นอกจากนี้ห้องบรรพอัยการได้เก็บรวมรวมหนังสืออนุสรณ์งานศพของบุคลากรในสำนักงาน บุคคลที่มีชื่อเสียง ตลอดจนบุคคลทั่วไป ซึ่งเนื้อหาในหนังสือนอกจากจะกล่าวถึงชีวประวัติและเกียรติประวัติของบุคคลดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อมูลความรู้ในเรื่องต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย


หลวงรัตนาญัปติ
(ขุนหลวงพระยาไกรสี)
(เปล่ง เวภาระ)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑
(พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๐

พระยาอรรถการประสิทธิ
(วิลเลี่ยม แอลเฟรด คุณดิลก)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๒
(พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๔๖๐)

พระยาอรรถการยบดี
(ชุ่ม อรรถจินดา)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๓
(พ.ศ. ๒๔๖๑ – ๒๔๖๖)

พระยาเทพวิฑูรพหุลศรุตาบดี
(บุญช่วย วณิกกุล)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๔
(พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๔๗๑)

พระยามานวราชเสวี
(ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๕
(พ.ศ. ๒๔๗๑ – ๒๔๗๗)

พระยาอรรถการีย์นิพนธ์
(สิทธิ จุณณานนท์)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๖
(พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๘๘)

พระยาอรรถกรมมณุตตี
(อรรถกรม ศรียาภัย)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๗
(พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๘๙)

พระสารการประสิทธิ์
(พิณ คุณะเกษม)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๘
(พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๔๙๑)

หลวงอรรถปรีชาชนูปการ
(ฉอรรถ แสนโกศิก)
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๙
(พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๕)

นายเล็ก จุณณานนท์
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๐
(พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๑๑)

นายกมล วรรณประภา
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๑
(พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๑๒) 

นายโชติ สุวรรณโพธิ์ศรี
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๒
(พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๒) 

นายสงวน ชูปัญญา
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๓
(พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๕)

นายโปร่ง เปล่งศรีงาม
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๔
(พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๑๘)

นายอุทัย กัปปิยบุตร
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๕
(พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๑๙)

นายประเทือง กีรติบุตร
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๖
(พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๔)

นายสุจินต์ ทิมสุวรรณ
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๗
(พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๓๐)

นายโกเมน ภัทรภิรมย์
อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๑๘
(๑ ส.ค. ๒๕๓๐-๒๘ ก.พ. ๒๕๓๔)
อัยการสูงสุดคนที่ ๑
(๑ มี.ค. ๒๕๓๔-๓๐ ก.ย. ๒๕๓๖)


ห้องสมุดกฎหมายโบราณ ตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์ส่วนที่ ๒ ประกอบด้วย หนังสือกฎหมายหายากกว่า  ๒๕,๐๐๐ เล่ม ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของนักกฎหมายไทย อาทิเช่น

กฎหมายตามสามดวง ในรูปเล่มดั้งเดิม มีลักษณะเป็นแผ่นพับ เรียกว่า หนังสือสมุดไทดำ เป็นฉบับรองทรง  พ.ศ.๒๓๕๐ ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายอาญาในรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้ชำระกฎหมายขึ้นจากกรณีอำแดงป้อม ฟ้องหย่านายบุญศรี สามี กฎหมายตราสามดวงเป็นต้นแบบของประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
มีตู้จัดแสดงวิวัฒนาการการพิมพ์กฎหมายตามสามดวงหลายครั้ง เมื่อ จ.ศ.๑๒๓๕ หมอบรัดเลย์มิชชั่นนารี ชาวอเมริกันได้พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “กฎหมายเมืองไทย” ต่อมา ร.ศ.๑๒๐ ได้เรียบเรียงใหม่โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เรียกว่า “กฎหมายราชบุรี” และเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือท่านปรีดี พนมยงค์ ได้พิมพ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า “ประชุมกฎหมายไทย” ต่อมามีการพิมพ์อีกครั้ง พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยร้อยตำรวจโทเสถียร วิชัยลักษณ์ เรียกว่า “ประชุมกฎหมายประจำศก”

คำพิพากษากรรมการฎีกาบางเรื่อง ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นมาเล่มแรก ร.ศ. ๑๑๗ โดยพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มโนสาร ธร์มสาร และใช้ชื่อ คำพิพากษาฎีกาในปัจจุบัน

หนังสือราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เล่ม ๑-๒๕ ซึ่งรัชกาลที่ ๔ เป็นผู้ให้กำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ มีลักษณะเป็นแผ่นปลิว แปลว่า “หนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ” ถือว่าเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารของรัฐบาลไทย ซึ่งดำเนินงานพิมพ์โดยคนไทยเป็นครั้งแรก

หนังสือกฎหมายเก่าหายากของขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีกรมอัยการคนแรก มีอายุหนังสือ ๑๐๙ ปี ซึ่งมีอายุเท่ากับสถาบันอัยการไทย

หนังสือพระนิพนธ์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนาศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย กว่า ๑๐ รายการ อาทิ หนังสือโค๊ตอาญา ร.ศ.๑๒๗ เลคเชอร์ พ.ศ.๒๔๖๘

หนังสือกฎหมายเก่าซึ่งไม่มีที่ใด อาทิเช่น หนังสือสมุดคู่มือหมอกฎหมาย โดยพระราชนนทราชธานี ยกกระบัตรเกณฑ์เมืองรั้งในกระทรวงมหาดไทยอัยการมณฑลนครไชยศรี กฎหมายเก่าใหม่ เล่ม ๑-๒ โดยหลวงดำรงธรรมสาร ร.ศ.๑๑๕ กฎเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.๑๑๒ และรายงานประจำปี ๒๔๕๗ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีส่วนของการเก็บเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นเอกสารราชการ จำนวน ๕,๐๐๐ แผ่น ตั้งแต่สมัยกรมอัยการขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม จนกระทั่งย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย อาทิเช่น เอกสารที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งที่เรียกขานอัยการสมัยก่อนว่า “ยกกระบัตร” เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และถือเป็นเอกสารสำคัญแผ่นเดียวในประเทศไทย โดยค้นพบได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดเลย และเอกสารสัญญาค้าทาส พ.ศ.๒๔๒๖ พร้อมด้วยเอกสารโบราณประกอบด้วยหนังสือสมุดไทดำว่าด้วยกฎหมายตราสามดวงฉบับรองทรง คัมภีร์ใบลานที่เกี่ยวกับอัยการอุทธรณ์


จำลองมาจากวัดและโบสถ์จากจังหวัดเชียงรายและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือเป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ประดิษฐานพระพุทธรูปจากสำนักงานอัยการทั่วประเทศ พระพักตร์ของพุทธรูปแสดงถึงศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละแห่ง อาทิเช่น

พระพุทธรูปจากสำนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดแม่สะเรียง มีพระพักตร์แบบชาวพม่า ที่ฐานพระมีอักษรพม่าสลักอยู่

พระพุทธรูปจากสำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น มีพระพักตร์แบบชาวลาว

พระพุทธรูปส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เทวรูปศิลปะสมัยนครวัด สมัยเขมรบายน และพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี


เป็นมุมที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโต๊ะทำงานและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานของอัยการในสมัยโบราณ ประกอบด้วยโต๊ะไม้สัก ๘ ขา โต๊ะเสมียนมีลักษณะเป็นรูปถั่ว โต๊ะพิมพ์ดีด ออกแบบเพื่อใช้งานในการพิมพ์สำนวนคดีโดยเฉพาะ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องเขียนสมัยโบราณ เช่น แท่นใส่หมึก ที่ซับหมึก ถาดไม้ใส่สำนวน ปากกา ไม้บรรทัด และตู้ใส่เสื้อครุย ประกอบด้วยเสื้อครุย ๓ สมัย ได้แก่

เสื้อครุยสมัยแรก ปี พ.ศ.๒๔๔๐ เรียกว่า เสื้อเนติบัณทิต พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงได้แบบอย่างจากเสื้อเนติบัณทิตของอังกฤษ

เสื้อครุยสมัยที่สอง รัชกาลที่ ๖ พระราชทานเสื้อครุยเนติบัณทิตแบบไทย อนุโลมอย่างเสื้อเสนาอำมาตย์มีลักษณะผ้าผืนโปร่งสีขาว

เสื้อครุยสมัยที่สาม เป็นครุยตามพระราชบัญญัติเสื้อครุยเนติบัณฑิต พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งเป็นเสื้อครุยเนติบัณฑิตที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

อกจากนี้ยังมีการจัดแสดงที่แขวนเสื้อครุย กำปั่นโบราณ โต๊ะเครื่องแป้งสมัยโบราณ โทรศัพท์ นาฬิกา เครื่องพิมพ์ดีด สมุดบัญชีรับ-ส่งหนังสือ และสมุดสารบบคดี พ.ศ.๒๔๖๐ พร้อมโต๊ะทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นภาพการทำงานของยกกระบัตรหรืออัยการในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี


การเข้าใช้บริการสืบค้นกฎหมายโบราณ เอกสารจดหมายเหตุ และสำนวนคดีประวัติศาสตร์

๑. หนังสือกฎหมายโบราณและหนังสือจดหมายเหตุทั่วไป  
ผู้ใช้บริการสามารถกรอกแบบฟอร์มและเข้าสืบค้นได้ทันที สืบค้นได้ภายในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ขอสงวนสิทธิในการนำหนังสือออกจากพิพิธภัณฑ์

๒. เอกสารจดหมายเหตุและสำนวนคดีประวัติศาสตร์ 
เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญเมื่อติดต่อเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์แล้ว ผู้ใช้บริการต้องทำหนังสือหรือเอกสารแจ้งความประสงค์ในการขอเข้าสืบค้นล่วงหน้าประมาณ ๑ สัปดาห์ โดยทำหนังสือแจ้งถึงหัวหน้าศูนย์วิทยบริการ สำนักงานอัยการสูงสุด(หรือใช้แบบฟอร์มตามที่กำหนด)


การเข้าใช้บริการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อัยการไทย

๑. กรณีบุคคลทั่วไป
สามารถลงทะเบียนเข้าเยี่ยมชมได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

๒. กรณีที่ต้องการเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ  มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้  
๒.๑ ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทยเพื่อขอทราบรายละเอียดการเข้าเยี่ยมชมพร้อมระบุวันและเวลาที่ต้องการเข้าเยี่ยมชม  
๒.๒ มีหนังสือแจ้งความประสงค์ถึงหัวหน้าศูนย์วิทยบริการ สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุวันที่ เวลา จำนวนผู้ต้องการเข้าชม และยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางเพื่อทางพิพิธภัณฑ์จะได้ประสานงานกับฝ่ายบริหารทั่วไปในเรื่องสถานที่จอดรถ(หรือใช้แบบฟอร์มตามที่กำหนด)๓. ส่งหนังสือหรือเอกสารที่แจ้งความประสงค์ขอเข้าเยี่ยมชมฉบับตัวจริงหรือฉบับสำเนาล่วงหน้าก่อนเดินทางมาประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ กรณีส่งฉบับสำเนามาก่อนต้องนำฉบับตัวจริงมายื่นในวันที่เข้าใช้บริการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อัยการไทย

หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อ โทร. ๐ ๒๕๑๕ ๔๗๘๐-๑ โทรสาร ๐ ๒๕๑๕ ๔๗๘๑