สำนักวิทยบริการ สำนักงานเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด

…จากห้องสมุดส่วนตัวอธิบดีกรมอัยการคนที่ ๕  สู่ห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชนเฉลิมพระเกียรติ E-Library…  

     พ.ศ.๒๔๗๑ พระยามานวราชเสวี อธิบดีกรมอัยการคนที่ ๕ ได้สร้างห้องสมุดส่วนตัวขึ้น ต่อมาได้พัฒนาเป็นห้องสมุดในสังกัดกองวิชาการ ในตอนแรกมีข้าราชการอัยการที่จบการศึกษาจากต่างประเทศทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ อาทิ ดร.ขุน ศรียาภัย ดร.อุทิศ แสนโกศิก ดร.อำรุง สุนทรวร จนกระทั่งถึงศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ อัยการทำหน้าที่บรรณารักษ์คนสุดท้าย ก่อนรับบรรณารักษ์วิชาชีพคนแรกในปี พ.ศ.๒๕๑๕(นางสาวเอมอร ตันเถียร)ซึ่งมีห้องสมุดแห่งเดียวที่อาคารหลักเมือง

พ.ศ.๒๕๒๗ จัดตั้งห้องสมุดอาคารธนบุรี

พ.ศ.๒๕๓๓ ได้รับเกียรติบัตรจาก สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะห้องสมุดเฉพาะกฎหมายดีเด่นประจำปี

พ.ศ.๒๕๓๓ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓

พ.ศ.๒๕๓๔ จัดตั้งห้องสมุดอาคารสำนักงานคดีแรงงาน

พ.ศ.๒๕๓๔ สำนักงานอัยการสูงสุดแต่เดิมเป็นกรมอัยการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๓๔ ได้บัญญัติให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการ อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีและเปลี่ยนชื่อจากกรมอัยการเป็น “สำนักงานอัยการสูงสุด” 

พ.ศ.๒๕๓๕ จัดตั้งห้องสมุดสำนักงานคดีอาญาธนบุรี (ตลิ่งชัน)

พ.ศ.๒๕๓๖ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์อัยการไทย ห้องสมุดกฎหมายโบราณ

พ.ศ.๒๕๓๘ จัดตั้งห้องสมุดอาคารรัชดาภิเษก     

พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับเกียรติบัตรจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการจัดห้องสมุดกฎหมายโบราณและพิพิธภัณฑ์อัยการไทย โดยไม่ใช้งบประมาณ

 พ.ศ.๒๕๔๒ สำนักงานอัยการสูงสุด มีโครงการจัดทำห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชนเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ  ๗๒ พรรษาทุกสำนักงานอัยการ เพื่อเปิดบริการแก่นิสิต นักศึกษา ประชาชน ข้าราชการ ในพื้นที่ห่างไกล ใช้ประกอบการอ้างอิง ศึกษาค้นคว้า

พ.ศ.๒๕๔๕ จัดตั้งห้องสมุดอาคารกรุงเทพใต้

พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับเกียรติบัตรจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะบรรณารักษ์ดีเด่น(นางสาวเอมอร ตันเถียร)

พ.ศ.๒๕๔๗ จัดทำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ELIB

พ.ศ.๒๕๕๑ ตามคำสั่งสำนักงานวิชาการ ที่ ๑๐/๒๕๕๑ เรื่อง การจำแนกงานในสำนักงานวิชาการ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ สำนักงานวิชาการได้กำหนดศูนย์วิทยบริการเป็นผู้รับผิดชอบ๑) งานห้องสมุด ๒) งานพิพิธภัณฑ์ ๓) งานจดหมายเหตุ ๔) งานอื่นที่ได้รับมอบหมาย มีหัวหน้าศูนย์วิทยบริการพิจารณามอบหมาย โดยอยู่ในกำกับดูแลของรองอธิบดีอัยการ สำนักงานวิชาการ

พ.ศ.๒๕๕๒ จัดตั้งห้องสมุดอาคารมีนบุรี

พ.ศ.๒๕๕๓ จัดตั้งห้องสมุดอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์

พ.ศ.๒๕๕๖ โครงการพัฒนาห้องสมุดสำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์

พ.ศ.๒๕๖๓ตามประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงาน และการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ หมวด ๓ ข้อ ๙ (๑) (ค) กำหนดให้ สำนักวิทยบริการ เป็นหน่วยงานราชการธุรการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด         

พ.ศ.๒๕๖๓ โครงการพัฒนาระบบงานห้องสมุดกฎหมายอัยการให้เป็นห้องสมุดดิจิทัล  (Digital Library)

     ปัจจุบันสำนักวิทยบริการ มีห้องสมุดสาขาในส่วนกลาง จำนวน ๗ แห่ง และห้องสมุดสาขาใน    ส่วนภูมิภาคจำนวน ๖๕ แห่ง สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำโครงการห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชนเฉลิมพระเกียรติฯ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา โดยเป้าหมายจะจัดให้ครบทุกจังหวัด จำนวน ๑๑๐ ที่ทำการ และกำลังพัฒนาไปสู่ E-Library เพื่อให้บริการด้านวิทยบริการทางกฎหมายแก่บุคลากรของสำนักงานตลอดจนประชาชนทุกท้องถิ่น เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดเล็งเห็นว่าปัจจุบันพนักงานอัยการมีความจำเป็นต้องใช้บริการห้องสมุดอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในด้านนิติศาสตร์และสาขาวิชาอื่น เพื่อดำรงตนในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้ มีความคิดทันสมัยและมีทัศนะกว้างขวาง อันเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่เป็นทนายแผ่นดิน โดยสำนักวิทยบริการถือเป็นภารกิจหลักที่จะต้องทำหน้าที่เป็นแหล่งให้บริการความรู้เหล่านี้แก่ข้าราชการอัยการซึ่งปฏิบัติภารกิจอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ


อำนาจและหน้าที่ของสำนักวิทยบริการ 

ตามประกาศกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงาน และการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. ๒๕๖๓

๑) รับผิดชอบงานจัดทำและเผยแพร่ตำรา วารสาร เอกสารทางวิชาการ และงานวิทยาการของสำนักงานอัยการสูงสุด
๒) รับผิดชอบงานพิพิธภัณฑ์ และงานห้องสมุด
๓) รับผิดชอบงานพัฒนา รูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ ระบบวิทยบริการทางกฎหมาย ระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) การสนับสนุนข้อมูลด้านหนังสือ วารสาร สิ่งพิมพ์ เอกสาร ข้อมูลทางวิชาการ โดยการเข้าถึงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนด้านวิชาการของข้าราชการฝ่ายอัยการและบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด
๔) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย


ภารกิจหลักของสำนักวิทยบริการ

๑. งานบริหารทั่วไป    
๑.๑ ปฏิบัติงานสารบรรณ และงานธุรการ   
๑.๒ จัดทำ จัดส่ง และเวียนเผยแพร่เอกสารหนังสือผลงานห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์  
๑.๓ จัดทำคำของบประมาณ รวบรวมรายจ่ายประจำปี   
๑.๔ งานการเงิน จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายการเดินทางไปจัดห้องสมุดสาขา และค่าล่วงเวลา   
๑.๕ รวบรวมจัดทำสถิติ รวมถึงการรายงานผลการปฏิบัติงาน   
๑.๖ งานบริการสื่อโสตฯ ตามโครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ   
๑.๗ ควบคุม บำรุงรักษา ซ่อมแซมวัสดุ ครุภัณฑ์ของห้องสมุดและห้องพิพิธภัณฑ์   
๑.๘ งานดูแลอาคารสถานที่ห้องสมุดอาคารรัชดาภิเษก อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารหลักเมืองอาคารกรุงเทพใต้ อาคารธนบุรี อาคารสำนักงานคดีแรงงาน อาคารมีนบุรี และห้องพิพิธภัณฑ์   
๑.๙ ดำเนินการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกสำนักงาน 

๒. งานบริการสารสนเทศ   
๒.๑ บริการยืม – คืนวัสดุและทรัพยากรสารสนเทศภายในห้องสมุด และบริการอ้างอิงระหว่างห้องสมุด  
๒.๒ ดำเนินการเกี่ยวกับ การให้บริการโสตทัศนวัสดุ และอำนวยความสะดวกในการถ่ายสำเนาสารนิเทศแก่ผู้ใช้บริการ   
๒.๓ บริการตอบคำถาม และช่วยการค้นคว้าข้อมูลกฎหมายเอกสารพิเศษ คำพิพากษาฎีกาแก่ข้าราชการสำนักงานอัยการทุกแห่ง   
๒.๔ บริการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต   
๒.๕ บริการสืบค้นทางโทรสารและโทรศัพท์ จัดส่งข้อมูลสารสนเทศระหว่างห้องสมุดสาขาสำนักงานอัยการ รวมถึงหน่วยงานภายนอก  
๒.๖ จัดทำคู่มือ ป้ายประกาศ เผยแพร่การสืบค้นห้องสมุดสำนักงาน 

๓. งานพัฒนาวิทยบริการด้วยสื่อสารสนเทศ   
๓.๑ ดำเนินการวางแผน จัดทำ จัดซื้อ และจัดหาทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภท เพื่อปฏิบัติงานวิชาการของสำนักงานอัยการสูงสุด  
๓.๒ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ในการรับบริจาคแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศ   
๓.๓ ดำเนินการคัดเลือก จัดหา ลงทะเบียนเอกสารหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์อื่นๆซีดีรอมและโปรแกรมสำเร็จรูปให้ห้องสมุดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค   
๓.๔ วิเคราะห์ จัดหมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศ และจัดทำบัตรรายการให้แก่ห้องสมุดทุกแห่ง   
๓.๕ บำรุงรักษาทรัพยากรห้องสมุด และจัดเตรียมทรัพยากรสารสนเทศ   
๓.๖ จัดทำและรวบรวมกฤตภาคจากหนังสือพิมพ์   
๓.๗ ถ่ายสำเนาหน้าสารบัญวารสาร และจัดทำดัชนีสืบค้นวารสาร   
๓.๘ รวบรวมสารบัญอัยการนิเทศและวารสารอัยการ มาจัดทำดัชนีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยค้นสำหรับบริการค้นคว้าภายในห้องสมุด   
๓.๙ จัดทำคู่มือรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศ ได้แก่ รายชื่อหนังสือ สารบาญค้นวิทยานิพนธ์ สารบาญค้นเอกสารวิจัย ฯลฯ 

๔. งานเอกสารพิเศษทางกฎหมาย   
๔.๑ สำรวจ ติดตาม รวบรวมพระราชบัญญัติให้ครบถ้วนทันสมัยและเป็นปัจจุบัน   
๔.๒ จัดทำรายชื่อกฎหมายที่ออกใหม่เป็นประจำเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อเผยแพร่แก่สำนักงานอัยการทั้งหมด   
๔.๓ แก้ไขเพิ่มเติมตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติในแฟ้มกฎหมายตามราชกิจจานุเบกษา   
๔.๔ ดำเนินการจัดทำแฟ้มกฎหมายในห้องสมุดสาขาภูมิภาค   
๔.๕ จัดทำคู่มือ ดัชนีสืบค้นกฎหมายและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน 

๕. งานพัฒนาระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์   
๕.๑ ดำเนินการพัฒนาและจัดหาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับห้องสมุด   
๕.๒ ศึกษา พัฒนา และดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ   
๕.๓ ประสานงานการบริการสืบค้นจากฐานข้อมูลคำพิพากษาฎีกาและพระราชบัญญัติต่างๆ รวมถึงฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์เพื่องานบริการค้นคว้าในห้องสมุดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและพิพิธภัณฑ์   
๕.๔ ดำเนินการจัดเก็บเอกสาร สำนวนคดีประวัติศาสตร์ลงระบบอิเล็กทรอนิกส์ 

๖. งานห้องสมุดสาขา   
๖.๑ ให้คำปรึกษาในการวางระบบ รูปแบบมาตรฐาน และวิธีการจัดตั้งห้องสมุดสาขาได้แก่งบประมาณ สถานที่ และบุคลากร   
๖.๒ จัดหา จัดซื้อและรวบรวมหนังสือ ทรัพยากรสารสนเทศ   
๖.๓ ดำเนินการลงทะเบียน จัดระบบหมวดหมู่ รวมทั้งการเตรียมหนังสือก่อนขึ้นชั้นบริการ   
๖.๔ รวบรวม จัดระบบ ติดตามปรับปรุง แฟ้มพระราชบัญญัติให้ครบถ้วน ถูกต้อง และทันสมัยตามความต้องการของข้าราชการอัยการ   
๖.๕ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและคู่มือการสืบค้น   
๖.๖ ให้คำปรึกษาแนะนำห้องสมุดสัญจร บริการตอบคำถาม แก้ปัญหาการจัดระบบ 

๗. งานพิพิธภัณฑ์   
๗.๑ สำรวจ คัดเลือก รับบริจาค ลงทะเบียนวัสดุครุภัณฑ์โบราณของสำนักงานอัยการสูงสุด   
๗.๒ ตรวจสอบรายงานประจำปี  
๗.๓ ดำเนินการอนุรักษ์ สงวนรักษา วัสดุครุภัณฑ์โบราณ   
๗.๔ สำรวจ ซ่อมแซมครุภัณฑ์โบราณ   
๗.๕ ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการเตรียมพิธีการและวิทยากรนำชม 

๘. งานจดหมายเหตุ   
๘.๑ รวบรวมเอกสาร ภาพและเรื่องราวสำคัญในสำนักงานอัยการสูงสุด และในวงการเกี่ยวกับกฎหมายและหน่วยงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง   
๘.๒ จัดเก็บ เผยแพร่ จัดทำสื่อเพื่อการรักษาและใช้งาน สืบค้นจดหมายเหตุต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ   
๘.๓ สำรวจ คัดเลือก รับบริจาค ลงทะเบียนและจัดเก็บหนังสือ เอกสารโบราณ สำนวนคดีประวัติศาสตร์   
๘.๔ บริการสืบค้นข้อมูลกฎหมายโบราณ รวมทั้งประวัติศาสตร์สถาบันอัยการให้ข้าราชการสำนักงานและประสานงานหน่วยงานภายนอก   
๘.๕ ดำเนินการสแกน จัดเก็บข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบซีดีรอม  
๘.๖ แสวงหา รวบรวม เอกสารจดหมายเหตุ สำนวนคดีประวัติศาสตร์และประเภทโสตทัศน์จดหมายเหตุให้เป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการสืบค้นเพื่อประกอบการดำเนินงานหรือศึกษาวิจัย