ทางลัดสู่ความยุติธรรม

บทความโดย น้อนฮูก

คราวที่แล้วเรากล่าวถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญากันไปแล้วว่า การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่แฝงอยู่โดยที่เราอาจไม่ทันได้นึกถึง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสาร ค่าเสียเวลาในการทำงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐต้องหาทางปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสน้อยที่สุด

เมื่อเราหันกลับมามองกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นอยู่ เริ่มต้นจากเมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ตำรวจก็จะสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด และทำสำนวนส่งมายังพนักงานอัยการ หากพนักงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ก็มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาล จากนั้นศาลจะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ หากเห็นว่าจำเลยกระทำผิดจริงก็มีคำพิพากษาลงโทษ และเข้าสู่กระบวนการบังคับโทษต่อไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางของกระบวนการยุติธรรมอาจมากน้อยต่างกันตามประเภทหรือความซับซ้อนของคดี แต่รู้หรือไม่ว่า แม้ในคดีความผิดทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน เช่น ความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค ความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ยาเสพติด และความผิดต่อร่างกาย เหล่านี้ ใช้เวลาเฉลี่ยในการดำเนินคดีประมาณ 12.6 เดือน หรือกว่า 1 ปี เลยทีเดียว ซึ่งคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินคดีมากเพียงใด และหลายครั้งที่เรายังเห็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรมจบลงด้วยความบอบช้ำของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้กระทำผิดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขฟื้นฟูอย่างแท้จริง ฝ่ายผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม และรัฐเองที่ถูกสะท้อนความล้มเหลวในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ความยุติธรรมกับกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมเป็นเพียงหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม ซึ่งแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าหนทางนี้เป็นเส้นทางกระแสหลัก แต่นอกจากการเดินทางตามเส้นทางกระแสหลักในกระบวนการยุติธรรมแล้ว จะมีเส้นทางอื่นหรือทางลัดเพื่อไปสู่ความยุติธรรมบ้างหรือไม่

ปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก มีเส้นทางในการเข้าถึงความยุติธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การเบี่ยงเบนคดี (Diversion) ซึ่งเป็นวิธีการนำคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักตามกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ในหลายขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการดำเนินคดีอาญาในรูปแบบเดิม ในประเทศไทยก็ใช้การเบี่ยงเบนคดีเช่นกัน เช่น การไกล่เกลี่ยสำหรับความผิดอันยอมความได้ หรือความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางประเภท เป็นต้น แต่การนำมาใช้ยังอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และมักจะติดอยู่ในกับดักทางความคิดที่ว่าเป็นเพียงมาตรการทางเลือกเท่านั้น ในขณะที่ต่างประเทศมีวิธีการที่หลากหลายกว่ามาก ซึ่งรวมถึงการให้พนักงานอัยการมีคำสั่งชะลอการฟ้องไว้ก่อน พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขบางประการให้ผู้กระทำความผิดปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงแก้ไขตนเองและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีกลไกการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม เป็นต้น

คงจะดีกว่า ถ้าการเดินทางไปยังจุดหมายที่ใดที่หนึ่ง มีเส้นทางให้เลือกได้หลายทาง ทั้งทางหลักและทางลัด ตามที่เราสะดวกและพอใจ และคงจะดีไม่น้อย หากการเดินทางของประชาชนเพื่อไปถึงความยุติธรรมจะมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายตามความเหมาะสมกับเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้โอกาสในการเลือกเส้นทางที่จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น และสามารถไปถึงปลายทางของความยุติธรรมด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่ายในที่สุด

อ้างอิง

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ, “โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์ (Economic Analysis of Criminal Laws) รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 1 เรื่อง นิติศาสตร์ของระบบยุติธรรมทางอาญาของไทย”, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สิงหาคม 2554.

เกี่ยวกับผู้เขียน

น้อนฮูก