สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม

          สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม (สวอพ.) เป็นหน่วยราชการในสังกัดสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563  เพื่อทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจที่จำเป็นต่อการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดเท่านั้น  เนื่องจากการอำนวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยการประสานสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  การกำหนดโจทย์วิจัยจึงมุ่งหาคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหาและข้อติดขัดของกระบวนการยุติธรรมโดยรวมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

          หลักในการดำเนินงานของเราคือการมุ่งหาคำตอบให้กับปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในภาคปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติอย่างมีข้อมูล สถิติและหลักฐานตามหลักการวิจัยรองรับ (evidence-based policy making)  การกำหนดและออกแบบโจทย์การศึกษาวิจัยของเราจะเน้นให้มีการยึดโยงกับประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานจริงเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่ย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุให้ต้องมีการศึกษาวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเราเชื่อมั่นว่า การจะได้คำตอบที่ถูกต้อง ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามที่ตรงประเด็น (asking the right question)  เราหวังว่าการดำเนินงานด้านการศึกษาวิจัยของเราจะมีส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนรู้และสัมผัสได้ว่ามีความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่ล่าช้า และเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างเท่าเทียม ตามพันธกิจของเราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการอัยการ ดังต่อไปนี้

  1. รับผิดชอบการศึกษา วิจัย วิเคราะห์ เผยแพร่ พัฒนากฎหมายอาญา กฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อนำไปสู่มาตรการทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและตามมาตรฐานสากลของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
  2. รับผิดชอบการศึกษา วิจัย เพื่อการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามที่คณะกรรมการสถาบันนิติวัชร์เห็นสมควร รวมทั้งยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
  3. รับผิดชอบงานเผยแพร่ผลการดำเนินงานตามที่คณะกรรมการสถาบันนิติวัชร์เห็นชอบ
  4. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย