Online Sexting อันตรายที่มากับสื่อโซเชียล

บทความโดย ฮูกวิจัย

ในโลกยุคปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็กและมีบทบาทที่สำคัญต่อการศึกษาหาความรู้และพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน แม้ด้านหนึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตนั้นช่วยให้เด็กเข้าถึงความรู้และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย แต่อีกด้านหนึ่งปรากฏว่าอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ พฤติกรรมก่อความรุนแรงบนโลกออนไลน์ การล่วงละเมิดทางเพศ และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนโลกออนไลน์ (Online Child Exploitation and Abuse-OCSEA) ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเช่นกัน

Sexting เกิดขึ้นได้ง่ายในโลกยุคดิจิทัล โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนสามารถรับส่งข้อความระหว่างกันผ่านแพล็ตฟอร์ม (Platform) เช่น Facebook, Line หรือ แอพพลิเคชั่น (Application) ต่าง ๆ ที่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการสามารถส่งหรือแชร์ข้อความและวีดีโอหากันได้ ซึ่งคำว่า “Sexting” นั้น เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการนำคำว่า “Sex” และ “Texting” มารวมกัน โดยหมายถึงการส่งข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอที่มีความวาบหวิว โป๊เปลือย (Indecent images) หรือที่มีเนื้อหาของการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการชักชวนหรือเชื้อเชิญให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทางเพศหรือเพศสัมพันธ์ (Sexually explicit contents) ซึ่งในบางครั้ง รูปภาพ หรือวีดีโอที่ถูกแชร์และมีการส่งหากันเหล่านี้อาจถูกสร้างขึ้นโดยตัวของผู้ส่งเอง (Self-generated sexualized images) และถูกนำมาแชร์กันเองระหว่างเพื่อนสนิทที่ไว้ใจหรือแฟน หรืออาจเป็นการแชร์รูปภาพ คลิปวีดีโอ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองแต่ได้รับผ่านการส่งต่อ ๆ กันมาก็ได้ โดยในกรณีของ Sexting ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความยินยอม (Non-consensual) หรือที่เรียกว่า “Unwanted sexting” นั้น แม้จะเป็นการส่งระหว่างกันในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่ในบางประเทศก็ถือว่าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการส่งโดยมีมูลเหตุจูงใจเพื่อข่มขู่ ประจาน หรือแก้แค้นบุคคลผู้รับข้อความนั้น ๆ หรือที่เรียกกันว่า “Revenge porn” ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่คู่รักเลิกกันไปแล้ว

Sexting นั้นถือว่าเป็นปัญหาร้ายแรงและผิดกฎหมายเมื่อผู้รับข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอนั้นเป็นเด็กโดยไม่ต้องคำนึงว่าการพูดคุยในลักษณะ Sexting ดังกล่าวนั้นอยู่บนความสมัครใจหรือไม่ และจัดว่าเป็นการกระทำความผิดประเภท OCSEA หรือ Online Child Exploitation and Abuse รูปแบบหนึ่ง โดยถือเป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองข้ามได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ใหญ่เป็นผู้ส่งข้อความพูดคุยในลักษณะ Sexting กับเด็ก แม้ว่าหากดูเผิน ๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่า Sexting นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ร้ายแรงเพราะเป็นเพียงการพูดคุยแชร์รูปภาพกันผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่จากผลการสำรวจในระดับสากลพบว่า Sexting นั้นส่งผลให้เด็กอยู่ในภาวะเปราะบางและมีความเสี่ยงที่เด็กจะตกเป็นเหยื่อจากภัยคุกคามทางเพศรูปแบบอื่นที่อาจตามมา เช่น “การแบล็คเมลทางเพศ” (Sextortion) หากรูปภาพส่วนตัวที่แชร์กันนั้นถูกนำมาใช้ข่มขู่เด็กเพื่อสนองความต้องการในทางเพศของผู้ข่มขู่ หรือใช้เพื่อ “การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์” (Cyberbullying) โดยเด็กอาจจะถูกโพสต์ด่า เสียดสี รังแกบนโลกออนไลน์ และในบางกรณีหากรูปภาพส่วนตัวดังกล่าวถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ก็อาจทำให้เด็กนั้นถูกสะกดรอยตามบนโลกออนไลน์จากบุคคลที่เด็กไม่รู้จัก (Cyberstalking) นอกจากนี้ในงานวิจัยยังพบว่าการพูดคุยในลักษณะ Sexting นั้น ในหลายกรณีเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนของการสร้างความสัมพันธ์กับเด็กโดยมีเจตนาเพื่อล่อลวง ควบคุม หรือยุยงให้เด็กทำกิจกรรมทางเพศที่เรียกกันว่า “การล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ” (Online Grooming) ซึ่งเมื่อเด็กหลวมตัวก็อาจนำไปสู่การถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การถูกบังคับให้ถ่ายทอดสดกิจกรรมทางเพศ (Live steaming of child sexual abuse) เป็นต้น ดังนั้นจากความร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อเฝ้าระวังและต่อสู้กับปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น

อ้างอิง
ECPAT- Summary Paper on Online Child Sexual Exploitation                

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกวิจัย