ภาพสะท้อนประเทศไทย ผ่านมุมมองตัวชี้วัดหลักนิติธรรม

บทความโดย ฮูกนักคิด

มีผู้รู้เปรียบหลักนิติธรรม (rule of law) เสมือนอากาศ ที่เราอาจไม่รู้สึกถึงว่ามีอยู่ แต่ชีวิตเราขาดมันไม่ได้เพราะหลักนิติธรรมถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างสังคมแห่งสันติภาพ ความยุติธรรม การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นับตั้งแต่ปี 2008 World Justice Project (WJP) ได้ทำการสำรวจสถานการณ์หลักนิติธรรมในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 140 ประเทศ จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 154,000 คน และผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมาย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,600 คน เพื่อนำมาจัดทำเป็นตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่ได้รับความเชื่อถือ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์หลักนิติธรรมที่ผ่านมาโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า ตัวเลขหลักนิติธรรมของแต่ละประเทศส่งผลโดยตรงกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศที่มีคะแนนหลักนิติธรรมสูงมักเป็นประเทศที่ร่ำรวย ส่วนประเทศที่ได้คะแนนหลักนิติธรรมต่ำ เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ตามไปด้วย เพราะหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งจะช่วยลดการคอร์รัปชัน ขจัดความยากจนและโรคภัย ป้องกันความอยุติธรรมทั้งหลาย

ทั้งนี้ รายงานตัวชี้วัดหลักนิติธรรม ประจำปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นรายงานฉบับล่าสุดระบุว่า ประเทศที่ได้คะแนนหลักนิติธรรมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ส่วนประเทศที่ได้คะแนนหลักนิติธรรมต่ำสุด 3 อันดับสุดท้ายคือ คือ ประเทศอัฟกานิสถาน กัมพูชา และเวเนซุเอลา ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศทั่วโลกและอันดับที่ 10 จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยมีคะแนนหลักนิติธรรมอยู่ที่ 0.50 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศทั่วโลก คือ 0.55 อันอาจกล่าวได้ว่าหลักนิติธรรมในประเทศไทยยังต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดทำตัวชี้วัดหลักนิติธรรม โดยประเทศไทยได้คะแนนปัจจัยด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 0.42 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศทั่วโลก คือ 0.47 และค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คือ 0.53 ซึ่งประเทศไทยมีคะแนนต่ำกว่าประเทศมาเลเซียและเวียดนามที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยย่อยในประเด็นของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็พบว่า คะแนนที่ประเทศไทยได้น้อยที่สุด คือ ปัจจัยย่อยด้านความมีประสิทธิภาพของระบบการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา (Criminal Investigation System is Effective – 0.38 คะแนน) ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นกลาง (Criminal System is Impartial – 0.32 คะแนน) และด้านความมีประสิทธิภาพของระบบราชทัณฑ์ในการลดการกระทำความผิดซ้ำ (Correctional System is Effective in Reducing Criminal Behavior – 0.27 คะแนน)

ดัชนีตัวชี้วัดดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่ต้นธารในระบบการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนถึงปลายธารในระบบการลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่สามารถป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาเดิม ๆ ที่เราประสบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเรายังไม่ยอมให้ใช้วิธีการแบบใหม่มาแก้ปัญหาในเชิงระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบทบาทในการค้นหาความจริงร่วมกันของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่ไม่ใช่เรื่องตรวจสอบถ่วงดุลและไม่ใช่การที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันทำงาน การปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายอย่างเหมาะสมเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม หรือเรื่องการเบี่ยงเบนคดีอาญาในชั้นก่อนฟ้องเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีศักยภาพทั้งในการลงโทษและบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมให้ตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น เพราะหากเราใช้วิธีการแบบเดิม ๆ จะเป็นไปได้อย่างไรว่าผลลัพธ์จะต่างไปจากเดิม ดังที่เคยได้ยินผู้กล่าวว่า

มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ
แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง

หมายเหตุ * World Justice Project (WJP) เป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งสร้างความรู้ ความตระหนัก และดำเนินงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของหลักนิติธรรมทั่วโลก

** ในการจัดทำตัวชี้วัดหลักนิติธรรม มีปัจจัย 8 ด้าน ดังนี้

1. การควบคุมอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers)  

2. การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption)

3. การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government)

4. สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights)

5. ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security)

6. การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement)

7. กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice)

8. กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

ที่มา: WJP Rule of Law Index 2022

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกนักคิด

ฮูกระดับบอส