ระบบยุติธรรมแบบสุ่ม

บทความโดย ฮูกจิ๋ว

กระบวนการยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมอย่างแท้จริงแก่ประชาชนได้ต่อเมื่อทุกขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมได้ถูกดำเนินไปตามแนวทางที่ควรจะเป็นในทุกขั้นตอนโดยปราศจากอคติทั้งปวง ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นศาล รวมไปถึงกระบวนการภายหลังจากที่ศาลพิพากษาแล้วด้วย เราจึงจำเป็นต้องใส่ใจในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดียิ่งขึ้น แม้กระทั่งในเรื่องที่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างการสั่งจ่ายสำนวนคดีของผู้บริหารองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานในแต่ละองค์กร โดยการสั่งจ่ายสำนวนคดีที่ดีและยุติธรรมในความเห็นของผู้เขียนจะประกอบไปด้วยความถูกต้องตรงกันระหว่างทักษะความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติงานกับลักษณะและประเภทของคดี และต้องไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าจะจ่ายสำนวนให้แก่บุคคลใด อีกทั้ง ต้องมีการเฉลี่ยปริมาณงานให้มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งการสั่งจ่ายสำนวนคดีนั้นต้องกระทำไปโดยปราศจากอคติและเรื่องส่วนตัว จึงเป็นภาระหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานในระดับบริหารของแต่ละองค์กรที่จะต้องบริหารจัดการเพื่อให้การสั่งจ่ายสำนวนคดีเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรมนุษย์

แต่อย่างไรก็ดี หากเราลองจินตนาการดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากระบบการจ่ายสำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปในรูปแบบของการสุ่มโดยระบบคอมพิวเตอร์แทนการตัดสินใจโดยดุลพินิจของมนุษย์ โดยในขั้นแรกเราต้องเข้าใจระบบการจ่ายสำนวนคดีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเสียก่อน ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่าง 2 องค์กร คือ สำนักงานอัยการสูงสุดและศาลยุติธรรมของประเทศไทย

การจ่ายสำนวนคดีของพนักงานอัยการโดยทั่วไปเป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 29 การสั่งจ่ายสำนวน และการคืนสำนวน หัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งจ่ายสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการในบังคับบัญชา และต้องลงชื่อในคำสั่งพร้อมวันเดือนปีที่สั่ง แม้จะสั่งจ่ายให้ตนเองก็ตาม และข้อ 30 การจ่ายสำนวนคดีสำคัญ หากหัวหน้าพนักงานอัยการเห็นสมควร จะสั่งจ่ายสำนวนให้องค์คณะหรือคณะทำงานเป็นผู้พิจารณาก็ได้ และให้ระบุชื่อพนักงานอัยการหนึ่งคนเป็นเจ้าของสำนวน และในส่วนของดำเนินงานแก้ต่างคดีอาญาจะปรากฏอยู่ใน ข้อ 219 การรับเรื่องและสั่งจ่ายสำนวน โดยในกรุงเทพมหานคร ให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายเรื่องแก้ต่างคดีอาญาให้แก่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาที่รับผิดชอบ เมื่อสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาได้รับเรื่องแล้วให้ลงรับในสารบบความอาญาที่แก้ต่าง (ส.5) ทันที และให้หัวหน้าพนักงานอัยการเป็นผู้สั่งจ่ายสำนวนให้แก่พนักงานอัยการในบังคับบัญชา ส่วนในต่างจังหวัดนั้น เมื่อรับเรื่องแก้ต่างคดีอาญาแล้วให้ลงรับในสารบบความอาญาที่แก้ต่าง (ส.5) ทันที และให้อัยการจังหวัดเป็นผู้สั่งจ่ายสำนวนให้แก่พนักงานอัยการในบังคับบัญชา เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีของพนักงานอัยการในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสั่งจ่ายสำนวนนั้นเป็นดุลพินิจของหัวหน้าอัยการในระดับต่าง ๆ แล้วแต่กรณี โดยอาจจะพิจารณาถึงความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และความเหมาะสมในการสั่งจ่ายสำนวนคดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการคดีให้ตรงกับขีดความสามารถของทรัพยากรบุคคลภายในสำนักงานอัยการสูงสุด

ต่อมา การจ่ายสำนวนคดีของผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 32 กำหนดไว้ว่า ให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีในแต่ละศาลแล้วแต่กรณี รับผิดชอบในการจ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลหรือในแผนกคดีนั้น โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันคือระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายสำนวนคดี พ.ศ. 2544 ดังที่ปรากฏจะเห็นได้ว่าการสั่งจ่ายสำนวนคดีนั้นเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาระดับหัวหน้าต่าง ๆ แล้วแต่กรณี ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายสำนวนคดี โดยอาจจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และความเหมาะสมในการสั่งจ่ายสำนวนคดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการคดีให้ตรงกับขีดความสามารถของทรัพยากรบุคคลภายในศาลยุติธรรม

จากตัวอย่างดังที่กล่าวไปข้างต้น การจ่ายสำนวนคดีของทั้งสองหน่วยงานตั้งอยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจโดยอาศัยการพิจารณาปัจจัยและการชั่งน้ำหนักของมนุษย์หรือดุลพินิจเป็นอย่างมาก ซี่งเป็นช่องว่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดจากการตัดสินใจของมนุษย์ขึ้น (human error) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากอคติของมนุษย์ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ หรือโมหาคติ แทนที่การพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และความเหมาะสมในการสั่งจ่ายสำนวนคดี ทำให้การจ่ายสำนวนคดีอาจไม่ตรงกับความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้ที่รับผิดชอบสำนวนคดีได้ อันจะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินคดีลดน้อยถอยลง อีกทั้ง ยังเป็นหนึ่งในช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการประพฤติมิชอบอันจะนำไปสู่ความอยุติธรรมได้อีกด้วย

จากปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว เพื่อลดช่องว่างของความผิดพลาดจากการตัดสินใจของมนุษย์ จึงจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ ที่เราจะใช้กลไกบางอย่างเพื่อบริหารจัดการงานแทนมนุษย์โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากการสร้างฐานข้อมูลผู้ปฏิบัติงานภายในหน่วยงานผ่านการใช้ระบบเครือข่ายแบบปิดหรือ Private Blockchain เพื่อให้เกิดความถูกต้องแน่นอนของการจัดการข้อมูลและลดโอกาสการแทรกแซงที่มิชอบของมนุษย์ โดยอาจใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในการสุ่มจ่ายสำนวนคดีทั่วไปโดยพิจารณาถึงปริมาณงานที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละบุคคลพึงได้รับเพื่อเฉลี่ยงานให้เกิดความเท่าเทียมกัน และในส่วนของคดีที่มีความพิเศษ กล่าวคือ คดีที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น ๆ ก็อาจอาศัยการกำหนดอัลกอริทึม (Algorithm) พิเศษ หรือก็คือ การกำหนดลำดับขั้นตอนที่แน่นอนที่จะใช้ในการแก้ปัญหาการสั่งจ่ายสำนวนตามที่กำหนดไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นกลไกในการจ่ายสำนวนคดีตามข้อมูลความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ สถิติ และความเหมาะสมของผู้ปฏิบัติงาน ผ่านข้อมูลความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติงานที่ได้จัดทำไว้แล้วล่วงหน้า ซึ่งเป็นการทำงานโดยอัตโนมัติของระบบคอมพิวเตอร์ สิ่งนี้จะทำให้ลดภาระหน้าที่ในการจ่ายสำนวน เกิดการสั่งจ่ายสำนวนคดีโดยปราศจากอคติและถูกต้องตามความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติงานที่ได้ลงทะเบียนไว้ในฐานข้อมูล อีกทั้ง อุดช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการประพฤติมิชอบจากการสั่งจ่ายสำนวนคดีโดยมนุษย์อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในบางเรื่องยังคงต้องอาศัยมนุษย์เพื่อทำการตัดสินใจให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้เหมือนดังที่มนุษย์เป็น ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี ที่อาจทำให้เกิดข้อกังขากับตัวผู้ที่ปฏิบัติงานตามการสั่งจ่ายสำนวนคดีของระบบคอมพิวเตอร์ที่นอกเหนือความรับรู้จากฐานข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ได้ เป็นต้น

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการใช้มนุษย์หรือคอมพิวเตอร์เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสั่งจ่ายสำนวนคดีต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน จึงเกิดคำถามที่ว่าประชาชนจะสามารถไว้วางใจการทำงานของฝ่ายไหนได้มากกว่ากันระหว่างดุลพินิจของมนุษย์หรืออัลกอริทึมของระบบคอมพิวเตอร์ หรือจะมีวิธีการใดบ้างไหมที่จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลักในการสั่งจ่ายสำนวนคดีควบคู่ไปกับการใช้ดุลพินิจของมนุษย์ในการลบข้อบกพร่องและส่งเสริมจุดเด่นซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดระบบยุติธรรมแบบสุ่มที่ถูกต้องเหมาะสม

แล้วคุณล่ะจะเลือกอะไร?

บทความนี้ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับปัญหาการสั่งจ่ายคดีไว้ในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “เปลี่ยนให้ผ่าน กระบวนการยุติธรรมไทย” เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook สถาบันนิติวัชร์  สำนักงานอัยการสูงสุด หรือทาง YouTube ช่อง Nitivajra Channel (คลิกที่นี่)                   

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกจิ๋ว