ต้นทุนค่าเสียโอกาสกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

บทความโดย ฮูกจิ๋ว

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าโดยปกติแล้วทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือได้มาฟรี ๆ แต่ละอย่างล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะต้นทุนโดยตรงหรือต้นทุนแฝงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนทางด้านทรัพย์สิน ด้านเวลา ด้านสุขภาพทั้งกายและใจ ด้านชื่อเสียงและฐานะทางสังคม ด้านความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งต้นทุนที่เราอาจจะมองข้ามไป ซึ่งในที่นี้ก็คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส เป็นต้น

ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เป็นคำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่เกี่ยวกับ มูลค่าที่เราเสียไป เมื่อเราเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง โดยอธิบายว่า หากเราเลือกทางใดทางหนึ่ง เราจะเสียโอกาสอีกทางเลือกหนึ่งไป ซึ่งต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องปรากฏออกมาในรูปของตัวเงินเสมอไป เช่น หากเรามีเวลาว่างอยู่ 1 ชั่วโมง และมีตัวเลือกระหว่างไปเที่ยวกับเพื่อนหรืออ่านหนังสือเตรียมสอบ หากเราเลือกที่จะอ่านหนังสือเตรียมสอบ เราก็จะเสียโอกาสที่จะได้ไปเที่ยวกับเพื่อนในเวลานั้นไป หรือกลับกันหากเราเลือกที่จะไปเที่ยวกับเพื่อน เราก็จะเสียโอกาสในการอ่านหนังสือเตรียมสอบไป เป็นต้น หรืออาจจะกล่าวง่าย ๆ ว่า การได้อย่างหนึ่งก็ต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป

ซึ่งต้นทุนค่าเสียโอกาสนี้ ย่อมรวมเข้าเป็นต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือการเข้าถึงความยุติธรรมทางอาญาด้วย แม้แต่ในกรณีที่คู่ความในคดีอาญาได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนว่าเราจะไม่ต้องจ่ายอะไรอีก แต่ในความเป็นจริงกลับมีต้นทุนแฝงและต้นทุนค่าเสียโอกาสอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปให้การเกี่ยวกับคดีในชั้นตำรวจและชั้นศาล เวลาที่เราต้องเสียไปในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ค่าเอกสาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะที่เราอาจจะมองข้ามไป เป็นต้น

ลองนึกภาพว่า ถ้าตัวเราที่ถูกลักโทรศัพท์มูลค่า 20,000 บาท ไป อาศัยอยู่ที่บ้านซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองในต่างจังหวัด ห่างจากสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล หลายสิบกิโลเมตร และต้องเดินทางไปกลับสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล เป็นจำนวนกว่าสิบรอบในการดำเนินการเกี่ยวกับคดี เพื่อหวังว่าเราได้รับการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น และผู้ที่กระทำความผิดจะได้รับโทษตามกฎหมาย ให้สมกับสิ่งที่เขาได้กระทำความผิดลง แต่สิ่งที่ตามมาคือเรากลับต้องเสียเวลา เสียพลังงาน เสียเงินค่าเดินทาง หรือแม้แต่เสียอารมณ์ จากกระบวนการดำเนินคดีที่ยุ่งยากซับซ้อน และไม่สามารถรับประกันได้ว่าเราจะรับความยุติธรรมตามที่คาดหวัง โดยแทนที่จะได้ใช้สิ่งที่เสียไปดังกล่าวในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ ทำสิ่งที่ตัวเรานั้นอยากที่จะทำ หรือเพื่อครอบครัว ซึ่งหากลองคำนวณต้นทุนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการในคดี ทั้งต้นทุนทางการเงินที่เสียไปรวมกับต้นทุนค่าเสียโอกาสในการหารายได้จากเงินและเวลาที่เสียไปดังกล่าวแล้ว อาจมีมูลค่ามากกว่าค่าความเสียหายหรือราคาทรัพย์ที่ถูกลักไปก็เป็นได้ ยังไม่รวมถึงสิ่งที่ไม่อาจคิดคำนวนเป็นราคาเงินได้ที่จะต้องเสียไปอย่างสุภาพกายและใจที่ต้องทนแบกรับความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินคดีอีก ตรงจุดนี้จึงทำให้ผู้เสียหายในคดีอาญาเกิดการชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจเลือกระหว่างการได้รับความยุติธรรมทางอาญา ที่อาจต้องแลกกับการเสียโอกาสในบางเรื่องไป หรือจะเลือกยอมเพิกเฉยต่อความยุติธรรมทางอาญาและดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ เสมือนว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความโชคร้ายของตน ซึ่งหากเลือกที่จะเพิกเฉยต่อความยุติธรรมทางอาญา ก็จะทำให้ผู้ที่กระทำความผิดไม่ถูกลงโทษในความผิดที่ตนก่อ จนอาจส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมในที่สุด

การลดต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกคนในสังคม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความท้าทายของบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่จะต้องหาทางปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงความยุติธรรมทางอาญาได้อย่างแท้จริง

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกจิ๋ว