ภยันตรายของเด็กในโลกออนไลน์

บทความโดย ฮูกเด็กเนิร์ด

ในภาวะที่อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เรียกว่าแทบจะขาดไม่ได้สำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยอินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และความบันเทิง สิ่งที่ตามมากับความสะดวกสบายของวิถีชีวิตออนไลน์คือ ภยันตรายที่แฝงตัวมาเข้าถึงเด็กได้ง่ายขึ้น เพราะโลกออนไลน์เสมือนประตูมหัศจรรย์ที่เปิดโอกาสให้บุคคลแปลกหน้าเข้ามาทำความรู้จักคุ้นเคยกับเด็กถึงในบ้าน ทั้งยังเป็นภยันตรายที่เคลือบแฝงมาในรูปแบบที่สร้างความเพลิดเพลินหรือส่งความรู้สึกเชิงบวกทำให้เด็กไม่อาจรู้ได้ซึ่งภัยคุกคามและความเสี่ยงที่ตนจะถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ คำสอนของผู้ใหญ่ที่ไม่ให้รับขนมจากคนแปลกหน้าจึงอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

การแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ (Online Child Sexual Exploitation and Abuse – OCSEA) หมายถึงสถานการณ์ที่เทคโนโลยีการสื่อสารหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องในบางช่วงที่มีการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบหรือเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นร่วมกันทั้งทางออนไลน์และทางกายภาพระหว่างผู้ละเมิดกับเด็ก โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการเปิดตัวรายงานผลการสำรวจในโครงการ Disrupting Harm ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT) องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) และศูนย์วิจัยอินโนเซนติขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF Innocenti) ที่ทำการศึกษาเก็บข้อมูลใน 13 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ระบุว่า ร้อยละ 94 ของเด็กไทยอายุ 12-17 ปี ใช้อินเทอร์เน็ต และจากการสำรวจเด็กกลุ่มดังกล่าว จำนวน 967 คน พบว่าประมาณครึ่งหนี่งของเด็กกลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์กับบุคคลที่พวกเขาไม่รู้จักและส่วนใหญ่มีความรู้สึกเชิงบวกกับบุคคลเหล่านั้น โดยร้อยละ 10 ของเด็กกลุ่มดังกล่าวออกไปพบปะกับบุคคลที่รู้จักผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังระบุว่าในปี 2564 ร้อยละ 9 ของเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งหากเทียบกับสัดส่วนประชากร จะประมาณการได้ว่ามีเด็กจำนวน 400,000 คน ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ตกเป็นเป้าหมายจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ (social media platform) ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และติ๊กต๊อก เป็นพื้นที่สื่อกลางที่ถูกใช้ในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กมากที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้สื่อออนไลน์จะมีส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้คนแปลกหน้าเข้ามาแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก แต่ผลสำรวจพบว่าบุคคลที่เป็นผู้เริ่มต้นแสวงหาประโยชน์ทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์นั้นส่วนมากเป็นบุคคลที่เด็กรู้จักมาก่อน อันสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีประเภทดังกล่าวในช่วง พ.ศ. 2560-2562 ว่า ผู้ละเมิดทางเพศต่อเด็กออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเป็นบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายหรือมีความใกล้ชิดกับเด็กผู้เสียหาย

แต่อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการสำรวจพบว่า น้อยมากที่เด็กที่ถูกละเมิดทางเพศออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ จะเปิดเผยเรื่องราวต่อช่องทางการแจ้งเหตุที่เป็นทางการ และหากมีการเปิดเผย เด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะเปิดเผยกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่เป็นหญิง พี่น้อง หรือเพื่อน ส่วนร้อยละ 8-15 ของเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศออนไลน์ในปีที่ผ่านมาเลือกที่จะไม่เปิดเผยการถูกล่วงละเมิดครั้งล่าสุดต่อผู้ใดเลย ทั้งนี้ มีการระบุว่า การถูกตีตราจากชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการไม่แจ้งเหตุอาชญากรรม รวมทั้งการที่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กมีความตระหนักน้อยถึงความเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ อันสะท้อนให้เห็นปัญหาของการที่เด็กไม่คุ้นเคยกับกลไกการแจ้งเหตุที่เป็นทางการ ไม่รู้ว่าจะแจ้งข้อมูลได้ที่ไหน หรือจะบอกข้อมูลดังกล่าวกับใครที่ตนสะดวกใจเล่าให้ฟัง

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การที่เด็กไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาร้ายแรงมากพอที่จะรายงานหรือไม่ ซึ่งประการสุดท้ายนี้ ทำให้นึกถึงภาพยนตร์สารคดีฝรั่งเรื่องหนึ่งที่เด็กถูกพ่อแม่ของตัวเองทำร้าย แล้วเด็กไปถามคุณครูว่าการที่พ่อใช้เข็มขัดตีนั้นเป็นเรื่องธรรมดาหรือไม่ ครูตอบว่าอาจเป็นได้ จากนั้นเด็กจึงค่อยบอกว่าถูกพ่อใช้เข็มขัดตีจนเลือดออก ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาแล้ว ผลการสำรวจข้างต้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาการล่วงละเมิดและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทั้งหลายที่จะต้องคิดหาวิธีปกป้องคุ้มครองเด็กให้ห่างไกลจากภยันตรายดังกล่าว

อ้างอิง

Disrupting Harm in Thailand- Evidence on online child sexual exploitation and abuse

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกเด็กเนิร์ด

ฮูกระดับบอส
ร่างอัพเกรดของฮูกนัดคิด