กระบวนการ “ยุติ” ธรรม

บทความโดย ฮูกนักคิด

Miscarriage of justice

เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกรณีที่มีการตัดสินคดีผิดพลาดเอาตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ การฟ้องผิดคน หรือการจับผิดตัวที่เรียกกันว่า “จับแพะ” และในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่การดำเนินกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำไปสู่ความยุติธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกผู้บังคับใช้กฎหมายข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ทั้งมีผู้ตีความรวมไปถึงการปฏิบัติต่อผู้เสียหายอย่างไม่สมควร ละเลย ไม่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาจนผู้เสียหายกลายเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำ (secondary victimization) อีกด้วย

กล่าวกันว่า miscarriage ซึ่งแปลว่า แท้ง ในความหมายทั่วไปนั้น มีต้นกำเนิดมาจากเพลโต (Plato) นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณ ผู้ซึ่งมีมารดาเป็นหมอตำแย (midwife) ดังนั้น เมื่อมาใช้ในบริบทของความยุติธรรม (justice) จึงทำให้เห็นภาพของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ดำเนินไปตามครรลองที่ควรจะเป็นจนไม่สามารถส่งมอบความยุติธรรมให้แก่สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยความผิดพลาดนั้นอาจเกิดขึ้นในขั้นตอนใดก็ได้ หรือเกิดขึ้นอย่างละนิดละหน่อยในแต่ละขั้นตอนจนสะสมรวมกันให้เกิดการ “ยุติ” ความเป็นธรรมในที่สุด เปรียบเสมือนการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดเหตุผิดพลาดจากปัจจัยต่าง ๆ ในระยะใด ๆ ขณะตั้งครรภ์จนทำให้เกิดการแท้งบุตรนั่นเอง

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า miscarriage of justice หมายถึงความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาด มากกว่าจะแปลตรงตัวว่า ความยุติธรรม (justice) ที่ผิดพลาด ซึ่งทั่วโลกได้มีการศึกษาวิจัยอย่างแพร่หลายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดและพบว่าปัจจัยหลักที่ส่งผล คือ ความบกพร่องของประจักษ์พยาน (eyewitness) การใช้วิธีที่ไม่สมควรเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ (confession) ความไม่น่าเชื่อถือของนิติวิทยาศาสตร์ (forensic science) และพยานผู้เชี่ยวชาญ (expert witness) การให้การเท็จของพยาน (witness perjury) การหย่อนความสามารถของทนายจำเลย นอกจากนี้ น่าสนใจว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่คาดไม่ถึง คือ แรงกดดันของสังคมที่ต้องการให้รัฐสามารถคลี่คลายคดีสะเทือนขวัญได้อย่างทันท่วงที ดังมีรายงานว่าในคดีฆาตกรรมเด็ก สังคมจะเรียกร้องให้มีการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความสำคัญกับความเร่งด่วนที่จะรีบสรุปคดี มากกว่าที่จะทำการสอบสวนอย่างรอบคอบตามขั้นตอนอย่างแท้จริง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยทั้งหลายข้างต้นมักอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโดยปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมเชื่อว่าตนเองจับผู้ร้ายได้ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อมีการระบุตัวผู้ต้องสงสัย (suspect) แล้ว ต่อมาตลอดกระบวนการสืบสวนสอบสวนจึงมักเป็นเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐานที่มายืนยันความเชื่อของตนว่า ผู้ต้องสงสัยคือ ผู้กระทำผิด (culprit) และเจ้าหน้าที่มีความชอบธรรมที่จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ ซึ่งสัญชาติญาณมนุษย์ดังกล่าวส่งผลต่อการกระทำและการตัดสินใจต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน หลายครั้งอคติในทางลบต่อผู้ต้องหา ทำให้การสอบสวนกลายเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่จะสนับสนุนความเชื่อของเจ้าหน้าที่ เพื่อ “พิสูจน์ความผิด”ของคนที่ถูกจับ มากกว่าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อ“พิสูจน์ความจริง” ให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เป็นไปในแนวทางของการค้นหาความจริงโดยไม่ด่วนสรุป ลดการพึ่งพาคำรับสารภาพ และยึดหลักการปฏิบัติต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคารพหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่มีคุณภาพ อันจะทำให้ไม่เกิดความผิดพลาดในการอำนวยความยุติธรรมที่อาจนำไปสู่การยุติความเป็นธรรม หรือ miscarriage of justice นั่นเอง

ที่มา: Miscarriage of justice โดย Sam Poyser and John D. Grieve จากหนังสือ The Psychology of Criminal Investigation : From Theory to Practice

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกนักคิด

ฮูกระดับบอส