จะเป็นอย่างไร? หากโลกเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม

บทความโดย ฮูกจิ๋ว

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีมีพัฒนาการขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นถูกกระทำลงบนเทคโนโลยีอีกทีหนึ่ง เกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสร้างโลกเสมือน (Virtual World) หรือที่เราอาจจะคุ้นหูจากคำพูดของ Mark Zuckerberg ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Meta เรียกสิ่งนี้ว่า Metaverse ซึ่งมาจากสองคำรวมกัน คือ คำว่า Meta ที่แปลว่า เหนือกว่า กับคำว่า Verse ที่มาจากคำว่า Universe หรือ จักรวาล ดังนั้นคำว่า Metaverse อาจแปลความหมายได้ว่า จักรวาลที่เหนือกว่า โดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย สำนักงานบัณฑิตยสภา ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 บัญญัติคำศัพท์เพื่อใช้เรียกขานในภาษาไทย ว่า “จักรวาลนฤมิต” หรือ “เมตาเวิร์ส” ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในอนาคต และสร้างความเป็นไปได้ใหม่แก่มวลมนุษยชาติ

Metaverse มีรูปแบบและลักษณะเป็นโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามามีประสบการณ์ใหม่แบบไร้พรมแดนตามแต่จินตนาการจะหยั่งถึง ผ่านระบบตัวตนสมมุติ (Avatar) ที่ใช้แทนตัวเองในการเข้าไปกระทำหรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันหรือตัวตนประดิษฐ์ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ซึ่งโลกเสมือนนั้นสามารถให้ประสบการณ์ในรูปแบบที่เสมือนเกิดขึ้นจริงทางกายภาพ และอาจเป็นประสบการณ์ที่เหนือขึ้นไปกว่าโลกจริงอีกขั้นด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการออกแบบสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ติดข้อจำกัดทางกายภาพดังเช่นโลกแห่งความจริง ซึ่งเราอาจเคยเห็นผ่านภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ready Player One, Avatar หรือ The Matrix เป็นต้น

หากเราลองจิตนาการถึงการพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่ดีขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีการสร้างโลกเสมือนจะเป็นอย่างไร โดยผู้เขียนจะขอยกกรณีตัวอย่าง คือ การถามปากคำกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable group) ที่หากจินตนาการว่าเราสามารถสร้างสถานที่ที่มีความเหมาะสม และสามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะบางอย่างของกลุ่มเปราะบางได้ อันเป็นไปตามหลักการสากล และใกล้เคียงกับสถานที่ถามปากคำในอุดมคติ ย่อมจะทำให้บุคคลในกลุ่มเปราะบางรู้สึกสบายใจและปลอดภัยในการให้ปากคำ เพียงแต่สถานที่ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในโลกเสมือน ต่อมา หากเราลองจินตนาการถึงกระบวนการถามปากคำตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในโลกเสมือนผ่านระบบตัวตนสมมุติ ที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐจากที่ใส่ชุดของราชการและทำท่าทางขึงขัง กลายมาเป็นบุคคลที่ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตร ผ่านการใช้ภาพลักษณ์เป็นตัวการ์ตูนที่เด็กชื่นชอบ ในการถามปากคำเด็กในโลกเสมือน ที่จะช่วยลดความกลัวและความตึงเครียดของเด็กต่อขั้นตอนการถามปากคำ รวมถึง เป็นการสร้างความรู้สึกที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการให้ความร่วมมือของเด็กผู้ให้ปากคำซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง อันจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เป็นต้น                        

แต่อย่างไรดี แม้โลกเสมือนจะสามารถให้ประสบการณ์ที่ดีต่อผู้คนได้ แต่ในทางกลับกันโลกเสมือนก็สามารถมอบประสบการณ์ที่เลวร้ายให้แก่ผู้คนได้เช่นกัน ซึ่งจะเห็นกรณีตัวอย่างได้จากข่าวในต่างประเทศเกี่ยวกับการโทรมหญิงในโลกเสมือน เป็นต้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีโลกเสมือนเข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรม ยังคงต้องมีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับข้อจำกัดในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายและหลักการสำคัญในการค้นหาความจริง รวมถึง ข้อท้าทายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบอันเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขาดองค์ความรู้ และมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกจิ๋ว