วันสตรีสากล (International Women’s Day )

บทความโดย ฮูกหญิง

ในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day – IWD) เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิของสตรีที่มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีการเดินขบวนเรียกร้องในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปทางตอนเหนือให้เกิดความเท่าเทียมกันของสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน ไปจนถึงสิทธิการเลือกตั้งซึ่งในสมัยก่อนเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะมีสิทธิดังกล่าว พัฒนาการเรื่องสิทธิสตรีได้มีมาอย่างต่อเนื่องในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิมนุษยชน ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยได้มีมาตรฐานของสหประชาชาติกล่าวถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (equal access to justice) ซึ่งมีหลักยึดว่า “การปฏิบัติที่แตกต่างเพื่อให้เหมาะสมกับเพศสภาพ ไม่ได้หมายถึงการได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ หรือไม่เสมอภาคแต่อย่างใด”

การปฏิบัติที่แตกต่างเพื่อให้เหมาะสมกับเพศสภาพ ไม่ได้หมายถึงการได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ หรือไม่เสมอภาคแต่อย่างใด

ในส่วนของสิทธิในการทำงานของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากสมัยก่อนมีกฎระเบียบห้ามไม่ให้ผู้หญิงรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการเพราะถือว่าไม่เหมาะสม โดยในส่วนของอัยการนั้นได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2503 มาตรา 25 ว่าด้วยการแต่งตั้งสตรีเข้ารับราชการในตำแหน่งข้าราชการอัยการ กำหนดว่า “ ตำแหน่งข้าราชการอัยการเป็นตำแหน่งที่โดยลักษณะ ปริมาณ และคุณภาพของงานไม่เหมาะสมแก่การแต่งตั้งสตรีเข้ารับราชการ จึงมิให้แต่งตั้งสตรีเข้ารับราชการในตำแหน่งเหล่านั้น” ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ว่าดังกล่าว คือตั้งแต่อัยการผู้ช่วยจนถึงอธิบดีกรมอัยการ ซึ่งก็เท่ากับห้ามผู้หญิงรับราชการเป็นอัยการในทุกตำแหน่ง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2518 จึงได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ออกมายกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 3 ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ผู้หญิงจึงสามารถรับราชการเป็นอัยการได้ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งในปัจจุบันนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด มีพนักงานอัยการหญิง จำนวน 1,292 คน เมื่อเทียบกับ พนักงานอัยการชาย จำนวน 2,932 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ต่อ 2 คน ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก และในโอกาสที่องค์กรอัยการจะมีอายุครบรอบ 130 ปีในวันที่ 1 เมษายน 2566 นี้ อัยการสูงสุดท่านปัจจุบัน คือ นางสาวนารี ตัณฑเสถียร ยังเป็นอัยการสูงสุดที่เป็นผู้หญิงท่านแรกในประวัติศาสตร์ อันนับว่าเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพัฒนาการสิทธิความเท่าเทียมกันของผู้หญิงที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย


อ่านเพิ่มเติม

  1. หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์. (2565). องค์กรอัยการไทย. กรุงเทพมหานคร: สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด.
  2. Updated Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Women in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกหญิง

ตาปิ๊ง ๆ วิ๊ง ๆ