กอริลล่าล่องหน

บทความโดย ฮูกนักคิด

จริงหรือ การที่คนสองคนซึ่งเห็นเหตุการณ์เดียวกันแต่ให้ข้อเท็จจริงแตกต่างกัน แปลว่าจะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งโกหก เป็นไปได้หรือไม่ว่า คนจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าแต่กลับไม่เห็นบางอย่างซึ่งแสนสะดุดตาในเหตุการณ์นั้น เคยหรือไม่ ที่หาอะไรไม่เจอแล้วพอมองอีกทีสิ่งนั้นอยู่ใกล้สายตาจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมองข้ามไปได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวถูกนำมาค้นคว้าด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยหนังสือเรื่อง The Invisible Gorilla ได้ประมวลผลการทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับรู้และความเชื่อของมนุษย์ซึ่งไม่ตรงกับความจริงตามหลักฐานที่พิสูจน์ได้แล้วสรุปว่า การที่คนเรามองไปที่อะไรสักอย่างไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นสิ่งนั้นเสมอไป กลไกอันซับซ้อนของสมองมนุษย์อาจสั่งให้เรามองไม่เห็นในสิ่งที่น่าจะมองเห็น การทดลองชิ้นที่โด่งดังอันเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกเมื่อปี ค.ศ. 1990 ภายใต้ชื่อบทความ Gorillas in Our Midst และกลายเป็นการทดลองที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในแวดวงจิตวิทยา โดย Christopher Chabris และ Daniel Simons ผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว ได้ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เข้าร่วมการทดลองดูคลิปวิดีโอที่มีผู้เล่นบาสเกตบอล 2 ทีม ทีมหนึ่งใส่เสื้อสีขาว อีกทีมใส่เสื้อสีดำ ผู้เล่นแต่ละคนจะเดินไปรอบๆพลางส่งลูกบอลให้คนที่อยู่ในทีมเดียวกัน แต่ก่อนที่จะให้ดูคลิปวิดีโอ ผู้เข้ารับการทดลองได้รับโจทย์ให้นับจำนวนการส่งลูกบอลเฉพาะของผู้เล่นในทีมที่ใส่เสื้อสีขาว ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองต่างพากันนับจำนวนลูกบอลที่ส่งผ่านในทีมสีขาวได้ในจำนวนใกล้เคียงกัน แต่เมื่อถามว่ามีใครสังเกตเห็นกอริลลา ซึ่งออกมาในฉากแล้วยืนหยุดนิ่งหันหน้าเข้าหากล้องทุบอกตัวเองเป็นเวลาประมาณเก้าวินาทีแล้วค่อยเดินออกไปจากฉากในช่วงกลางคลิปวิดีโอหรือไม่ ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองประมาณครึ่งหนึ่งกลับบอกว่าไม่เห็นกอริลลาแม้แต่น้อย

ต่อมามีคนนำการทดลองนี้ไปทำซ้ำอีกหลายครั้งในหลากหลายประเทศ แต่ผลก็ยังคงเป็นเช่นเดิม จนสามารถสรุปได้ว่าบางครั้งคนเราอาจอยู่ในภาวะ “มองไม่เห็นเพราะไม่สนใจ- inattentional blindness” ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้คนจดจ่ออยู่กับอะไรบางอย่าง (ในที่นี้คือการนับจำนวนการส่งลูกบอลของคนใส่เสื้อสีขาวจนทำให้มองข้ามสิ่งที่ไม่คาดคิด (คนสวมชุดกอริลลา) แม้ว่ามันจะมีความเด่นชัดสะดุดตาเพียงไหนก็ตาม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ การที่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงข้อบกพร่องของการรับรู้ที่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่มักมั่นใจว่าตนสามารถมองและเห็นทุกอย่างที่อยู่ในสายตา อันนำไปสู่ความเชื่อผิด ๆ ว่าสิ่งที่ไม่เห็นย่อมไม่มีอยู่จริงอย่างแน่นอน ความเชื่อและความมั่นใจที่เกินจริงนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งในหลายสถานการณ์ เพราะทำให้ละเลยการตรวจสอบหรือการตั้งสมมติฐานอื่นที่อาจเป็นไปได้นอกเหนือจากที่ตนรับรู้และเข้าใจ  เมื่อ “ปรากฏการณ์มองไม่เห็น” เกิดขึ้นกับพยานในคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประจักษ์พยาน หรือพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองซึ่งในกระบวนการยุติธรรมให้ความสำคัญมากที่สุดกับประจักษ์พยานที่น่าเชื่อถือ กล่าวคือ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือมูลเหตุจูงใจที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงและอยู่ในสภาวะที่สามารถเห็นเหตุการณ์ชัดเจน มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ถือเป็นพยานหลักฐานชั้นหนึ่งที่รับฟังได้ในการดำเนินคดี โดยไม่ได้ตระหนักว่าประจักษ์พยานที่สาบานตนว่าจะพูดความจริงนั้นอาจมีการรับรู้ที่บกพร่องทำให้เกิดความผิดพลาดในข้อเท็จจริงที่ให้การและอาจนำไปสู่ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม (miscarriage of justice) ในที่สุด

หากผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมตระหนักถึงความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์มองไม่เห็น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับรู้ของมนุษย์ โดยไม่ดำเนินคดีบนพื้นฐานของคำให้การพยานหรือทำทุกวิถีทางที่จะให้ผู้ต้องหารับสารภาพเท่านั้น แต่พยายามรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงหรือสอบทานข้อมูลที่ได้จากพยานทั้งหลายในคดี ย่อมจะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งความจริงอันเป็นพื้นฐานในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ไม่สามารถละเลยได้

สนใจการทดลองกอริลลา เข้าไปที่ www.theinvisiblegorilla.com

อ้างอิง

หนังสือ “ทำไมสิ่งที่คุณน่าจะมองเห็น สมองกลับสั่งให้คุณมองไม่เห็น The Invisible Gorilla” ผู้เขียน Christopher Chabris, Daniel Simons ผู้แปล วิโรจน์ ภัทรทีปกร

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกนักคิด

ฮูกระดับบอส