วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)

บทความโดย ฮูกจิ๋ว

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1993 สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (Declaration on the Elimination of  Violence against Women – DEVAW) ตามข้อมติที่ 48/104 และต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้รับรองข้อมติที่ 54/134 ให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)” ซึ่งได้รับการเสนอโดยสาธารณรัฐโดมินิกัน เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกของสาธารณชนในเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีในวันดังกล่าวของทุกปี โดยก่อนหน้านี้ ผู้คนส่วนหนึ่งในประเทศแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียนได้ให้ความสำคัญกับวันดังกล่าวตั้งแต่เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1981 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียกสากล แต่เป็นที่เข้าใจและรู้กันว่าเป็นวันปราศจากความรุนแรงต่อสตรี (No Violence Against Women Day) เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงสามพี่น้องตระกูลมิราบัล (Mirabal) อันได้แก่ แพทเทรีย (Patria), มาเรีย (María) และ มิเนอร์วา (Minerva) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากสาธารณรัฐโดมินิกันที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในปี ค.ศ. 1960 จากคำสั่งของผู้นำเผด็จการทหาร คือ ราฟาเอล เลโอนิดัส ตรูฮิโย โมลินา (Rafael Leónidas Trujillo Molina) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน ณ ขณะนั้น

การต่อสู้เพื่อยุติและขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจากความร่วมมือของหลายองค์กรและหลายประเทศทั่วโลกช่วยกันผลักดันให้นานาประเทศยอมรับวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งรวมถึงกองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี หรือ The United Nations Development Fund for Women – UNIFEM (ปัจจุบัน UNIFEM ได้ถูกรวมเข้ากับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women) โดยไม่กี่ปีก่อนหน้าที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ได้รับรองข้อมติที่ 54/134 ให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” โนลีน เฮย์เซอร์ (Noeleen Heyzer) ผู้อำนวยการบริหารกองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรีในขณะนั้น ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยสนับสนุนให้ทุกคนทั้งผู้ชายและผู้หญิงเข้าร่วมโดยสมัครใจในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเป็นเวลา 16 วัน (16 days of activism against gender violence) โดยจะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน และจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล (International Human Rights Day) อันเป็นวันที่มีการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อปี ค.ศ. 1948 เพื่อตอบสนองต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของระบอบนาซี

การรณรงค์ในช่วงเวลา 16 วันดังกล่าวมีความสำคัญและได้รับความสนใจจากผู้รับฟังสุนทรพจน์ของเฮย์เซอร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้นได้เกิดโศกนาฏกรรมที่น่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่งของแคนาดา โดยเกิดขึ้นที่เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1989 จากการที่นายมาร์ค เลปิน (Marc Lépine) ได้เข้าไปที่วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ (École Polytechnique de Montréal) ของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล (Université de Montréal) พร้อมอาวุธปืนและได้ก่อเหตุฆาตกรรมหมู่ขึ้น ก่อนที่จะปลิดชีพของตนในเวลาถัดมา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักศึกษาวิศวกรรมหญิงจำนวน 14 คน เสียชีวิตลง และมีคนได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 13 คน โดยเป็นผู้หญิงจำนวนถึง 10 คน ซึ่งเหตุการณ์สังหารหมู่นี้ถูกเรียกว่า “École Polytechnique massacre” หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “Montreal Massacre” และจากบันทึกเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเขา เลปินบอกว่าการก่อเหตุฆาตกรรมหมู่ของเขาเป็นการกระทำไปเพื่อต่อต้านแนวคิดสตรีนิยม (Feminism)[1] เพราะเขาคิดว่าการที่ผู้หญิงเรียนเกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์เท่ากับมีแนวคิดสตรีนิยม

เหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชายที่ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงในแคนาดา ผู้ชายในเมืองมอนทรีออลและเมืองอื่น ๆ ของแคนาดาเริ่มต้นเคลื่อนไหวด้วยการติดริบบิ้นสีขาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงในปี ค.ศ. 1991 ทำให้เกิดการรณรงค์โดยใช้สัญลักษณ์เป็นริบบิ้นสีขาว (White Ribbon Campaign) ขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยหลักการสำคัญของการรณรงค์คือ ผู้ชายต้องออกมาพูดหรือแสดงออกเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะการนิ่งเงียบถือเป็นการปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไป ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกได้มีการใช้ริบบิ้นสีขาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวที่เรารู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ในส่วนบทบาทของประเทศไทยเกี่ยวกับการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้น ประเทศไทยได้มีส่วนสำคัญในการจัดทำตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงฉบับหนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาฉบับปรับปรุง (Updated Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Women in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice) เพื่อให้นานาประเทศได้นำไปใช้เป็นต้นแบบในการปรับปรุงระบบกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันและขจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง อีกทั้ง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 16 วันนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นช่วงเวลาที่สหประชาชาติเชิญชวนให้แต่ละประเทศทั่วโลก จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง (16 days of activism against gender violence) เพื่อเป็นการพร้อมใจกันประกาศว่าจะร่วมมือกันในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลก

สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติฉบับดังกล่าว ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัยและทุกสถานะทางสังคม ทั้งตระหนักถึงหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอันเป็นพันธกิจหลักที่สำคัญของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้ดำเนินการผลักดันและเผยแพร่ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติฉบับดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้หญิงได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยยึดมั่นตามแนวปฏิบัติของยุทธศาสตร์ต้นแบบในการที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงขึ้นในกระบวนการยุติธรรม


[1] แนวคิดสตรีนิยม (Feminism) เป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศใด เนื่องจากสังคมในสมัยก่อนถูกกดทับด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ ทำให้เพศหญิงถูกมองว่าด้อยกว่าเพศชาย จนเกิดการต่อต้านแนวคิดชายเป็นใหญ่ และส่งเสริมสิทธิผู้หญิง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกจิ๋ว