วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)

บทความโดย ฮูก ฮูก

                   ในปี ค.ศ. 1999 องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)” เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันยุติการกระทำความรุนแรงต่อสตรี โดยทั่วโลกได้มีการใช้ “ริบบิ้นสีขาว” เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงออกซึ่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวด้วย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” เช่นกัน

                   องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO)[i] ได้ให้นิยาม “ความรุนแรง” ว่าหมายถึง การกระทำโดยมีเจตนาใช้กําลังทางกายหรือใช้อำนาจข่มขู่ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อกลุ่มบุคคลหรือต่อชุมชน อันทําให้เกิดหรืออาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ถึงแก่ความตาย เป็นอันตราย ต่อจิตใจ หรือการละเลยทอดทิ้ง ซึ่งจากนิยามดังกล่าว สามารถแบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการถูกทอดทิ้ง

                   ทั้งนี้ เป็นที่ทราบดีว่าสาเหตุของความรุนแรงเกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย อาทิ ความมึนเมา สารเสพติด ทัศนคติ ความเชื่อทางศาสนาหรือในสังคมชายเป็นใหญ่ หรือจากการถูกเลี้ยงดูในครอบครัวที่มีการกระทำความรุนแรง อย่างไรก็ดี การรับรู้ข่าวสารในแต่ละวันที่ล้วนแต่มีเรื่องการกระทำความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นข่าวบุคคลฆ่าตัวตาย ผู้หญิงหรือเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามีทำร้ายร่างกายภรรยา หรือแม้กระทั่งข่าวการทำสงครามในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงเช่นกัน เพราะครั้งแรกที่ได้รับรู้ข่าวเหล่านั้น หลายคนมักรู้สึกสะเทือนใจ เห็นอกเห็นใจบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อหรือประเทศที่ตกอยู่ในสถานการณ์สงครามเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเสพข่าวความรุนแรงดังกล่าวไปทุกวัน ๆ เคยลองสังเกตกันหรือไม่ว่า เราอาจจะมีความรู้สึกสะเทือนใจ เห็นอกเห็นใจน้อยลง จนสุดท้ายอาจรู้สึกเฉย ๆ หรือเห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องไกลตัวและเกินความสามารถเราที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ๆ ได้

                   สำหรับประเทศที่มีทัศนคติความเชื่อแบบปิตาธิปไตย หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงระหว่างบุคคล เช่น การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ นั้น ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่คือผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากเป็นเพศและวัยที่อ่อนแอกว่าผู้กระทำทั้งในแง่ของพละกำลังและความสามารถทางเศรษฐกิจ ทั้งยังน่าแปลกใจที่ความรุนแรงดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นที่บ้านและเกิดจากการกระทำของคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนรัก ทำให้ผู้หญิงและเด็กส่วนใหญ่ที่ถูกกระทำความรุนแรงมักจะอดทนเก็บความเจ็บปวดและอับอายไว้กับตัว ไม่แจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกกระทำ โดยหารู้ไม่ว่า ตนเองจะต้องตกอยู่ในวังวนของการเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายอาจจบลงที่ความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือในกรณีที่มีการแจ้งความดำเนินคดี กระบวนการขั้นตอนในการดำเนินคดีก็อาจกลายเป็นการสร้างบาดแผล ทางใจให้แก่ผู้ถูกกระทำมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้ต้องนึกย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเล่าให้บุคคลอื่นฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งนับแต่ที่มีการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีจนถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่การกระทำความรุนแรงต่อสตรียังไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทย ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง 2565 เพิ่มจาก 1,001 ราย เป็น 2,347 ราย[ii] ซึ่งเป็นสถิติที่ผู้ถูกกระทำเข้ามาสู่กระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น ยังไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ แจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด

                   นอกจากนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบกับผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงสภาพจิตใจของครอบครัวและคนรอบข้างด้วย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มตั้งคำถามกันอย่างจริงจังว่า เพราะเหตุใด ทั้งที่มีการรณรงค์ยุติความรุนแรงกันมาอย่างยาวนานเช่นนี้ แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในสังคมไทยตลอดจนสังคมโลกโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลย เราในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมได้มีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอย่างไร บ้างหรือไม่ จะทำอย่างไรให้คนในสังคมตระหนักเสมอว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องใกล้ตัว เราจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อเด็กและสตรีซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหากคนในสังคมมุ่งมั่นร่วมกันยุติความรุนแรงอย่างจริงจังต่อเนื่อง รวมทั้งใส่ใจคนรอบตัวสักนิดว่ากำลังเผชิญกับปัญหาความรุนแรงอะไรอยู่หรือไม่ เพื่อค้นพบและร่วมกันแก้ไขปัญหานั้นเสียแต่ต้น เราทุกคนก็สามารถเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ช่วยยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีได้


[i] https://www.who.int/groups/violence-prevention-alliance/approach

[ii] ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว


เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูก ฮูก