ความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม

บทความโดย พี่ฮูก

เพียงแค่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็อาจต้องรับความเจ็บปวดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของทุกคนที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “Violence through different lenses : ทำความเข้าใจความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม” ขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาเพื่อยืนยันแนวความคิดที่ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาสามารถสร้างความรุนแรงต่อผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้มากกว่าที่เราคิด รวมไปถึงช่วยกันหาสาเหตุและแนวทางในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

ในชีวิตประจำวันทั่วไป เราอาจเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการที่ผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องขังถูกกระทำโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้าย การถูกเค้นให้รับสารภาพ ซึ่งข้อค้นพบการจัดกิจกรรมยังคงยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ทั้งที่มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลดังกล่าวมากมาย เช่น การรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือล่าสุดในปีที่ผ่านมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชั้นจับกุมก็ตาม

จากแนวคิดที่ว่า “ผลสำเร็จของคดีคือความยุติธรรม” ส่งผลให้กระบวนการซักถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานเป็นไปอย่างคาดคั้นกดดันเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยละเลยประเด็นความเปราะบางทางจิตใจของผู้เสียหายหรือพยาน กระทั่งบางครั้งรุนแรงถึงขั้นบั่นทอนจิตใจของผู้เสียหายด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมักเกิดจากความไม่เข้าใจ หรือการขาดความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนกลุ่มดังกล่าว หรืออาจมาจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีอคติกับผู้เสียหายบางกลุ่มซึ่งถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แต่ที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นคือการที่ระบบหรือหมายถึงตัวกฎหมายเองถูกออกแบบมาในลักษณะที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้เสียหายหรือพยานโดยปริยาย อาทิ วิธีพิจารณาคดีอาญาที่ส่งผลบังคับให้ต้องเล่าเหตุการณ์เดิม ๆ ที่มีผลต่อจิตใจซ้ำ ๆ ตั้งแต่ก่อนชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น  ทำให้ผู้เสียหายหรือพยานเองก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกทำร้ายโดยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

นอกจากผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งในฐานะผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และผู้เห็นเหตุการณ์แล้ว บุคคล อีกกลุ่มหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมเองที่เราต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้ การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมพบว่า บุคคลผู้ปฏิบัติงานถูกระบบกดดันว่าความสำเร็จของงานคือผลคดีที่ทำแล้วเสร็จ เมื่อมีคดีปริมาณมาก ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องพยายามเอาตัวรอดจากหน้างานในแต่ละวันโดยไม่สามารถคำนึงถึงความเปราะบางของแต่ละกลุ่มบุคคลที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องหรือแม้แต่คุณภาพของการปฏิบัติหน้าที่ได้ รัฐเองก็ไม่มีแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ที่ชัดเจน มีเพียงกรอบกฎหมายกว้าง ๆ ในการปฏิบัติงานทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องอาศัยดุลพินิจส่วนตัวในการตัดสินใจซึ่งอาจไม่เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทั้งความเพียงพอของจำนวนบุคลากรและความสามารถเฉพาะด้าน รวมไปถึงสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงานจนส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานบางคนมีอาการทางจิตหรือถึงขั้นคิดที่จะอยากฆ่าตัวตายอีกด้วย

ผู้ร่วมโครงการได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ปัญหาความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรมนอกจากจะมีสาเหตุตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่กล่าวถึงกันอยู่เสมอ ๆ คือการที่สิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงได้ยากมากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถป้องกันตัวเองรวมถึงรักษาสิทธิของตนได้

สิ่งเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ผ่านกิจกรรมในโครงการที่พยายามทำความเข้าใจกับปัญหาความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม ด้วยความหวังว่าความเข้าใจต่าง ๆ จะนำไปสู่การตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง เพื่อคิดหาแนวทางที่ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจทำความรุนแรงต่อใครได้อีก

เกี่ยวกับผู้เขียน

พี่ฮูก