บาดแผลทางใจในวัยเด็ก

บทความโดย น้อนฮูก

ในวัยเด็กหรือวัยรุ่น… คุณเคยถูกพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวสบถ ปรามาส ดุด่า หรือทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อยหรืออับอายขายหน้าบ่อย ๆ หรือบ่อยมากหรือไม่… ถ้าคำตอบของคุณคือใช่ คุณอาจเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลทำให้คุณมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่ก็เป็นได้ และนี่เป็นเพียงหนึ่งในสิบคำถามตามแบบประเมินที่วัดระดับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experience หรือ ACE)[1] จากรายงานวิจัยที่มีผู้เข้าร่วมตอบแบบประเมินมากกว่า 18,000 คน พบว่า ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กทุกชนิดมีความสำคัญเท่ากันหมด[2] แม้ประสบการณ์ดังกล่าวอาจไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองอย่างลึกซึ้ง อันส่งผลต่ออาการเจ็บป่วยทางร่างกายในวัยผู้ใหญ่ในอีกหลายสิบปีต่อมาได้อย่างคาดไม่ถึง อาทิ การป่วยเป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปวดกล้ามเนื้อ โรคไมเกรน โรคซึมเศร้า เป็นต้น

หนังสือ Childhood Disrupted ที่เขียนโดย Donna Jackson Nakazawa และแปลเป็นภาษาไทย โดย นพ.เอกชัย อัศวนฤนาท ได้กล่าวถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (ACE) ที่มีความเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งตาม “ทฤษฎีสรรพสิ่ง” แห่งจิตชีววิทยาฉบับใหม่ชี้ให้เห็นว่า สภาพจิตใจของคนเราจะแปรเปลี่ยนเป็นสภาพร่างกาย ความเครียดทางจิตใจมีความสัมพันธ์กับการอักเสบในร่างกาย เมื่อร่างกายเผชิญความเครียดเรื้อรัง ต่อมความเครียดจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดระดับต่ำ ๆ ตลอดเวลา ทำให้การควบคุมฮอร์โมนความเครียดผิดปกติ อันนำไปสู่การอักเสบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมและโรคร้ายต่างๆ ดังที่ปรากฏจากการสำรวจติดตามชีวิตของผู้ตอบแบบประเมิน ACE ซึ่งเป็นแบบประเมินที่ทำการวัดระดับประสบการณ์เลวร้ายสิบอย่าง ตั้งแต่เรื่องคำพูดที่ทำให้รู้สึกต่ำต้อยอับอาย การถูกรังแก การถูกลวนลามทางเพศ การถูกทอดทิ้งทั้งทางร่างกายและจิตใจ การสูญเสียพ่อแม่จากการหย่าร้างหรืออื่น ๆ การใช้ชีวิตที่มีคนในครอบครัวติดสุรา เป็นโรคซึมเศร้า หรือใช้สารเสพติด ฯลฯ ผลการศึกษายังแสดงว่า ผู้ใหญ่ 64% ได้รับประสบการณ์เลวร้ายหนึ่งอย่างในวัยเด็ก และมีถึง 40% ที่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายสองอย่างขึ้นไป โดยผลการศึกษาภาพถ่ายสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) พบว่าคนที่มีคะแนน ACE มากเท่าไร เนื้อสมองก็จะมีขนาดเล็กลงมากเท่านั้น ทั้งยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าคนที่มีคะแนน ACE เป็น 0 ด้วย

การรู้ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ช่วยปลดล็อกความเข้าใจต่าง ๆ ในเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาจากต้นตอของปัญหา เพราะแม้ว่าสมองจะได้รับผลกระทบในทางลบจนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปแล้วตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่ข่าวดีก็คือสมองยังคงสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกไปจนตลอดชีวิต และมีวิธีการอีกหลายวิธีที่เราจะสามารถฟื้นฟูสมองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นเยียวยาด้วยตนเอง เช่น การเขียนหรือวาดเพื่อบำบัด การฝึกสมาธิ การฝึกไท่เก๊กและชี่กง การฝึกดูจิต การฝึกโยคะ ฯลฯ หรือการเข้ารับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ในหนังสือยังกล่าวถึงแนวทางการเลี้ยงดูเด็กเพื่อช่วยเหลือพวกเขาจากผลกระทบของประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กด้วย ความจริงที่ได้จากงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่กลับส่งผลระยะยาวถึงอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจในวัยผู้ใหญ่ เมื่อเราทุกคนต่างเคยเป็นเด็ก และก็มีความปรารถนาที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุข ไม่ว่าวัยเด็กที่ผ่านมานั้นจะเป็นอย่างไร แต่ในวันนี้เราสามารถเขียนทับประสบการณ์เดิมด้วยประสบการณ์ใหม่ที่ดีกว่าได้ เพื่อให้เราและลูกหลานของเราเติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุขไปด้วยกัน


[1] แบบประเมินประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก http://www.aceresponse.org/img/uploads/file/ace_score_questionnaire.pdf

[2] Childhood Disrupted เขียนโดย Donna Jackson Nakazawa และแปลเป็นภาษาไทย ชื่อ เกินกว่าเจ็บปวด โดย นพ.เอกชัย อัศวนฤนาท หน้า 56

เกี่ยวกับผู้เขียน

น้อนฮูก