เด็กในข่าว : ปัญหาจากการรายงานข่าวโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก

บทความโดย พี่ฮูก

ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการรายงานและส่งต่อข่าวสารต่าง ๆ ย่อมเป็นไปอย่างรวดเร็วตามไปด้วย เพราะบุคคลธรรมดาทั่วไปก็สามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้ หรือแม้แต่อาจจะเป็นผู้สร้างข่าวและทำให้ข่าวสารเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วได้เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว หากพิจารณาแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อสังคมเพราะทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข่าวสารความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้โดยง่าย และทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข่าวสารที่มีการรายงานนั้น  มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน และที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ ข่าวสารดังกล่าวนั้นไม่ละเมิดสิทธิของผู้ใด และไม่ขัดต่อกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลที่เป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม

จากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนในด้านการคุ้มครองเด็กพบว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนบางรายได้รายงานข่าวซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยมีการระบุรายละเอียดและหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่น่าเชื่อถือ แต่รายละเอียดต่าง ๆ ในข่าวนั้นเองก็อาจส่งผลร้ายอย่างคาดไม่ถึงต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าว เช่นในช่วงที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องในครอบครัวที่สังคมส่วนหนึ่งเห็นว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก ซึ่งแม้ว่าจะมีการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การปิดบังใบหน้า หรือการปิดบังชื่อของเด็ก แต่สื่อมวลชนกลับไม่มีการปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลอื่นในครอบครัว ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถสืบย้อนกลับไปที่ตัวเด็กนั้นได้โดยง่าย ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคที่มีการรับส่งข่าวสารกันอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการคัดกรองข้อมูลดังเช่นปัจจุบันนั้น สถานการณ์การล่าแม่มดที่เกิดขึ้นกับบุคคลในข่าวยิ่งมีความรุนแรงมาก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลร้ายทั้งหมดนั้นก็จะถูกส่งไปที่ตัวเด็กอีกทอดหนึ่ง


เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนี้หากมองโดยผิวเผินอาจเข้าใจกันได้ว่ากฎหมายห้ามเพียงแค่การยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าคือการหมิ่นประมาท ที่มีข้อยกเว้นความผิดหากเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ซึ่งกรณีนี้อาจถือได้ว่าการรายงานข่าวตามความเป็นจริงแก่สังคมโดยสุจริตอาจไม่เป็นการหมิ่นประมาทต่อบุคคลในข่าว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากการรายงานข่าวไม่ได้มีแค่บุคคลในข่าวเท่านั้น ดังเช่นในกรณีนี้ที่เด็กซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นผู้ถูกกระทำเอง  ก็ได้รับผลกระทบจากการรายงานข่าวเช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับเด็กที่ถือเป็นบุคคลที่เป็นกลุ่มเปราะบางนั้นได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งถูกตราขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในการคุ้มครองสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยปรากฏอยู่ในมาตรา 27 ดังนี้

“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”

โดยมีการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดดังกล่าวไว้ในมาตรา 79  ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นการกำหนดโทษเพื่อปรามไม่ให้มีการกระทำความผิด และถือเป็นการยืนยันที่จะต้องคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กนั้น ๆ อันเป็นสิทธิได้รับการรับรองในทางสากล และตามรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติมาตรานี้ต่างจากกรณีของการหมิ่นประมาท เพราะเป็นบทคุ้มครองเด็กโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กเอง หรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก หรือโดยเจตนาพิเศษคือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น เพียงการที่ผู้กระทำเล็งเห็นได้ถึงผลของการกระทำก็ถือได้ว่าผู้กระทำมีเจตนาแล้ว อันปฏิเสธได้ยากว่า การรายงานข่าว หรือการส่งต่อ หรือแชร์ข่าว ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลบที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็ก แม้ว่าจะมีการปกปิดข้อมูลของเด็ก แต่ไม่ปกปิดข้อมูลส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก ย่อมคาดหมายได้อยู่แล้วว่าท้ายที่สุดเรื่องร้าย ๆ ทั้งหมดก็จะย้อนกลับไปที่ตัวเด็กอย่างแน่นอน สำหรับประเด็นนี้ ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปควรคำนึงถึงเป็นอย่างมากว่าการรายงานข่าวหรือการส่งต่อข่าวในลักษณะดังกล่าว เป็นการกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือไม่ โดยนอกจากบทบัญญัติตามมาตรา 27 นี้แล้ว ยังปรากฏหลักการในทำนองเดียวกันอยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 9 ซึ่งห้ามการเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในคดีตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ความคุ้มครองของกฎหมายจะเริ่มเมื่อมีการแจ้งเหตุเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้วเท่านั้น

“สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปควรคำนึงถึงเป็นอย่างมากว่าการรายงานข่าวหรือการส่งต่อข่าวในลักษณะดังกล่าว เป็นการกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือไม่”

คลิ๊กที่ภาพเพื่อดาวน์โหลด

สำหรับผู้เขียน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร และได้เคยดำเนินการจัดการเสวนาของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อกระตุ้นการรับรู้ของสื่อมวลชนและสังคม เกี่ยวกับประเด็นการรายงานข่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กมาแล้วครั้งหนึ่ง อันเป็นประเด็นที่ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุุติธรรมทางอาญา เรียกร้องให้มีการดำเนินการ เห็นว่าการจัดเสวนาเพียงเท่านี้อาจยังไม่เพียงพอ เพราะหลังจากการเสวนาดังกล่าวก็ยังมีการรายงานข่าวในลักษณะนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเหมือนว่าประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของเด็กนี้เป็นเรื่องที่สังคมเพิกเฉย หรือเห็นว่าการละเมิดสิทธิของเด็กเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งทัศนคติเช่นนี้ควรได้รับการปรับเปลี่ยนโดยด่วน


เกี่ยวกับผู้เขียน

พี่ฮูก

นกฮูกเจ้าปัญญา (และเจ้าปัญหาในบางเวลา)