ฮูกตะลุยการประชุมต่างแดน

บทความโดย ฮูกอินเตอร์

อาชญากรรมมีหลายรูปแบบ แต่ถ้าอยากจะรู้ว่าอาชญากรรมประเภทใดกำลังเป็นที่ห่วงกังวลของนานาประเทศก็อาจจะอ้างอิงได้จากการที่อาชญากรรมนั้น ๆ ได้ถูกหยิบยกประเภทขึ้นมาเป็นหัวข้อในการประชุมสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านอาชญากรรมก็คือ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crimes) หรือ UNODC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และมีสำนักงานสาขาที่ดูแลภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

ในแต่ละปี UNODC จะจัดประชุมใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้แทนประเทศต่างๆทั่วโลกถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม รวมทั้งแนวทางการแก้ไข โดยเป็นการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs – CND) และการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะถูกนำมาหารือในการประชุม CCPCJ โดยผู้แทนประเทศต่างๆ ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยในปี 2565 นี้ เป็นการประชุม CCPCJ สมัยที่ 31 ซึ่งมีหัวข้อหลักของการประชุม เรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พยานหลักฐานทางดิจิทัลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากผู้เยาว์ในกิจกรรมอันผิดกฎหมายด้วยการใช้อินเทอร์เน็ต” (strengthening the use of digital evidence in criminal justice and countering cybercrime, including the abuse and exploitation of minors in illegal activities with the use of the internet) อันแสดงให้เห็นว่าประเทศทั่วโลกกำลังจับตากับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้พยานหลักฐานทางดิจิทัลในการดำเนินคดี และหยิบยกกรณีที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตในการแสวงหาประโยชน์จากเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเพื่อหารือ

ระหว่างการประชุม CCPCJ นั้น จะได้มีการพิจารณาร่างข้อมติต่าง ๆ ซึ่งหากสุดท้ายที่ประชุมรับรองข้อมตินั้น ๆ ก็จะถือว่าเนื้อหาในข้อมติดังกล่าวเป็นเจตจำนงค์ร่วมกันที่ประเทศสมาชิกจะผลักดันให้เกิดขึ้น อันถือเป็นขั้นแรกของการเกิดตราสารระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (UNTOC)  หรือแม้แต่ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (UN Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice)

บรรยากาศประชุมพิจารณาร่างข้อมติประมาณนี้นะฮูก

ซึ่งก็มีที่มาจากการที่ประเทศไทยร่วมเสนอร่างข้อมติในการประชุม CCPCJ สมัยที่ 22 ให้มีการจัดทำเอกสารยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ขึ้น โดยประเทศไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่างเอกสารในประเทศไทยและเมื่อร่างเสร็จแล้วได้นำเสนอผ่านข้อมติในการประชุม CCPCJ สมัยที่ 23 เมื่อปี ค.ศ. 2014 จนกระทั่งได้รับการรับรองตามกระบวนการจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้เป็นมาตรฐานของ UN ในปลายปีเดียวกัน

นอกจากการหารือของผู้แทนประเทศสมาชิกตามหัวข้อการประชุมแล้ว ในห้วงที่มีการจัดประชุม CCPCJ ยังเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆสามารถจัดกิจกรรมคู่ขนาน (side event) ซึ่งมักจะเป็นการอภิปรายหรือการเสวนาในประเด็นที่ประเทศตัวเองสนใจและอยากผลักดันให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี  ที่ผ่านมาเนื่องจากการประชุม CCPCJ จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ UNODC ณ กรุงเวียนนา และผู้ที่เข้าร่วมประชุมได้จะต้องเป็นคณะผู้แทนของแต่ละประเทศ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าชม side event จึงมีจำนวนจำกัด แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องจัดการประชุมในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งสำหรับ side event แล้วกลายเป็นข้อดีในแง่ที่ว่าสามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้เป็นคณะผู้แทนประเทศมาร่วมอภิปรายใน side event ได้อย่างกว้างขวางและสามารถเปิดให้ผู้ที่สนใจรับชมการอภิปรายได้ทางจอภาพจากทุกมุมโลก

งานของปีนี้นะฮูก

ประเทศไทยเองให้ความสำคัญกับการประชุม CCPCJ มาโดยตลอด และถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอร่างข้อมติและจัดกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยในปีนี้ UNODC กำหนดให้แต่ละประเทศสามารถจัดกิจกรรมคู่ขนานในนามของประเทศผู้จัดเป็นหลักได้เพียงกิจกรรมเดียว ซึ่งประเทศไทยโดยสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด จะจัด side event ในหัวข้อ “การขจัดการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์” (Elimination of Online Child Sexual Abuse and Exploitation) ร่วมกับหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (National Crime Agency – NCA) โดยมีผู้แทนจากยูนิเซฟมาร่วมอภิปรายด้วย โดยจัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 14.00 – 14.50 นาฬิกา (เวลาประเทศไทย) และถึงปีนี้จะไม่ได้จัดที่ VIC (Vienna International Centre) โดยเป็นการจัดในรูปแบบออนไลน์ แต่ก็เป็นข้อดีที่ทุกคนสามารถติดตามชมกันแบบสด ๆ ได้ทางซูม <คลิ๊กได้เลย> นะฮูก!

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฮูกอินเตอร์

ฮูกที่ไม่หยุดงานแม้เป็นวันหยุด