เสวนาวิชาการ เรื่อง “ชะลอฟ้อง เพื่ออะไร เพื่อใคร” : EP.2 ทิศทางประเทศไทย จากอดีต ถึงปัจจุบัน สู่อนาคต

คำอธิบาย

บันทึกการเสวนาวิชาการ เรื่อง “ชะลอฟ้อง เพื่ออะไร เพื่อใคร” : EP.2 ทิศทางประเทศไทย จากอดีต ถึงปัจจุบัน สู่อนาคต

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 13.30 – 16.30 น.

ร่วมเสวนาโดย
– ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
– ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ

ผู้ดำเนินรายการ ดร.สรรพัชญ รัชตะวรรณ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์

ประเด็นจากการเสวนา
ปัญหาหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ ปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในระบบราชทัณฑ์ไทย ซึ่งจากสถิติเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั้น ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ ๖ ของโลก

ต้นเหตุของปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากระบบแนวความคิดของกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีแนวความคิดที่ฝังลึกว่า เมื่อมีการกระทำความผิดแล้วจะต้องมีการดำเนินคดีและส่งผู้กระทำความผิดเข้าไปสู่เรือนจำในทุก ๆ เรื่อง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การส่งตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่เรือนจำส่งผลกระทบให้ผู้กระทำความผิดกลับเข้าสู่สังคมปกติได้ยาก และมีแนวโน้มที่จะกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ดังจะเห็นได้จากสถิติจำนวนผู้ต้องหาที่ถูกปล่อยตัวจะกลับมากระทำความผิดซ้ำและเข้าสู่เรือนจำอีกภายในปีแรกประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ภายในสองปีประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ และภายในสามปีประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ จึงกล่าวได้ว่า การส่งผู้กระทำความผิดเข้าสู่เรือนจำไม่ได้ช่วยทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความกลัวและไม่กล้าที่จะกระทำผิดอีกแต่อย่างใด

ด้วยเหตุดังกล่าว การชะลอการฟ้องจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญในการหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว โดยเป็นการไม่ผลักดันให้ทุกคดีต้องเข้าไปอยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรมสายหลักทั้งหมด แต่มีการจำแนกและใช้วิธีการที่เหมาะสมกับคดีในแต่ละประเภท ทั้งนี้ หากผู้เสียหายไม่ยินยอม การชะลอการฟ้องก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในส่วนประเด็นเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้เกิดความไว้ใจของประชาชน (public trust) ต่อระบบกระบวนการยุติธรรมในกรณีที่มีการชะลอการฟ้องมากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุป การชะลอการฟ้องจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้คดีที่ไม่ใช่คดีอาชญากรรมร้ายแรง (serious crime) ไม่ต้องเข้าสู่ศาล และทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่เรือนจำ อันถือเป็นการลดต้นทุนทั้งในด้านทรัพยากรบุคคลและด้านงบประมาณ แต่สิ่งที่สำคัญประการแรก คือ การปรับระบบคิด (mindset) ว่าจุดมุ่งหมายของการดำเนินคดี ไม่ใช่เพียงการลงโทษ แต่เป็นการปรับพฤตินิสัยและฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุขด้วย