การยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก 
โดยพนักงานอัยการ

        ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถ ขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลจัดตั้งผู้จัดการมรดกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ยกเว้น ค่าธรรมเนียมศาล) ณ สำนักงานอัยการจังหวัด ในท้องที่ของท่าน
       กรณี การจัดมรดกของคนต่างชาติในประเทศไทยสามารถยื่นคำร้องได้ที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ ได้ด้วยตนเอง คลิกเพื่อนัดพบ

เมื่อคนหนึ่งตายไปแล้วนั้น มรดกของเขาย่อมตกไปยังลูกหลาน พ่อแม่พี่น้องแล้วแต่กรณี ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกบุคคลที่ตายนั้นว่า “เจ้ามรดก”
ทรัพย์สินจำนวนมากตกทอดแก่ทายาท อาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือโดยพินัยกรรม ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทรัพย์สินซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดิน ฯลฯ ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ในการจัดการมรดก เจ้าพนักงานจะไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินเหล่านั้น หากไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการตามกฎหมายเสียก่อน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1713

          ทายาท หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
          (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
          (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
          การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

มาตรา 1718
          บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
          (1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
          (2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
          (3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย.

1. ทะเบียนบ้านของเจ้ามรดก
2. ทะเบียนบ้านของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
3. ใบมรณบัตรของเจ้ามรดก
4. ใบมรณบัตรของบิดามารดา กรณีบิดามารดาของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
5. ทะเบียนสมรสของสามี หรือ ภรรยาของเจ้ามรดก
6. ทะเบียนสมรสของ และ/หรือ ทะเบียนของสามีภรรยาของเจ้ามรดก
7. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ขอทายาทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก
8. สูติบัตรของบุตรเจ้ามรดก (กรณีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ ไม่สามารถให้ความยินยอมได้)
9. บัตรประจำตัวข้าราชการ บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
10. พินัยกรรมของเจ้ามรดก (ถ้ามี)
11. หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดก (ดาว์โหลดที่นี่ ไทย/EN)
12. บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้ให้ความยินยอมทุกคน
13. บัญชีเครือญาติ
14. เอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เช่น โฉนดที่ดิน และสัญญาจำนอง ทะเบียนรถยนต์/จักรยานยนต์ อาวุธปืน สมุดเงินฝากธนาคาร ใบหุ้น ฯลฯ 

การรับรองคำแปลเอกสารจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย

          เอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทยทุกฉบับ โดยมีการรับรองการแปล สามารถยื่นขอคำรับรองการแปล ดังนี้

          เอกสารที่นำมายื่นเพื่อขอให้รับรองคำแปล จะต้องเป็นเอกสารที่แปลจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศที่ทางราชการของประเทศน้ันออกให้ หรือเป็นเอกสารที่แปลจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนจัดทำขึ้น จะต้องได้การับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศน้ัน ๆ ในประเทศไทย

กรณีที่ 1 ยื่นคำร้องฯ รับรองคำแปลเอกสาร ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ
เอกสารดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการประเทศ หรือ โนตารี พับลิค (notary public) หรือหน่วยงานอื่นตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

กรณีที่ 2 ยื่นคำร้องฯ รับรองคำแปลเอกสาร ในประเทศไทย
ยื่นขอคำรับรองได้ที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก


บริการช่วยเหลือ / ปรึกษาทางกฎหมาย
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือทรัพย์สินใด ๆ ทั้งสิ้น  Free of Charge