ประวัติความเป็นมา

สำนักงานคณะกรรมการอัยการ

       พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงวางรากฐานระบบกฎหมาย และกระบวนยุติธรรมแก่ชาติไทย และทรงเคยปฏิบัติพระราชกรณียกิจอำนวยความยุติธรรมแก่ไพร่ฟ้าประชาชน ในยกกระบัตร เป็น อัยการ

       อัยการไทยได้ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะเริ่มแรกมีลักษณะคล้ายคลึงกับระบบอัยการในประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ต่อมาได้เปลี่ยนไปใช้ตามระบอบอัยการอังกฤษ มีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล จำเลยมีสิทธิสู้คดี โดยศาลวางตัวเป็นกลาง เป็นผู้ตัดสินคดี

       เดิมเมื่อตั้งกระทรวงยุติธรรมในปี ร.ศ.110 ยังไม่มีกรมอัยการ คงมีแต่กรมรับฟ้องและรับเรื่องราว ทั้งแพ่งและอาญา ต่อมาวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.112 หรือ พ.ศ.2436 จึงได้ตั้งกรมอัยการขึ้น เป็นกรมหนึ่งในกระทรวงยุติธรรม มีหลวงรัตนาญัปติ ต่อมาเป็น “ขุนหลวงพระยาไกรสี” เป็นอธิบดีคนแรก มีหน้าที่ราชการเป็นทนายหลวง ว่าความแผ่นดินในศาลทั้งปวง ณ สนามสถิตยุติธรรม และศาลกงสุลต่างประเทศ อัยการรุ่นแรกมี นายมี นายจัน นายโหมด นายสอน นายเขียว เป็นต้น

       ในการตั้งกรมอัยการครั้งแรกนี้ อัยการถือเป็นข้าราชการตุลาการ สามารถปรับเปลี่ยนหน้าที่กันได้ ดังเช่นเมื่อวันที่ 5 เมษายน ร.ศ.116 กระทรวงยุติธรรม ได้สั่งย้ายขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีกรมอัยการ เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ต่อมาย้ายพระยาเทพวิทูร (บุญช่วย วณิกกุล) อธิบดีกรมอัยการไปเป็นประธานศาลฎีกา พระยามานวราชเสวี จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศมาเป็นอธิบดีกรมอัยการ

       เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2465 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประกาศพระบรมราชโองการ ให้โอนกรมอัยการไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จึงได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 47 และฉบับที่ 49 แยกกรมอัยการออกจากกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นหน่วยงานราชการอิสระไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงใด แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น และเพื่อมิให้อิทธิพลทางการเมืองก้าวก่ายการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมยิ่งขึ้น และให้ชื่อใหม่ว่า “สำนักงานอัยการสูงสุด” มี ศ.ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ อธิบดีกรมอัยการขณะนั้นเป็นอัยการสูงสุดคนแรก และ นายโอภาส อรุณินท์ เป็นอัยการสูงสุดคนต่อมา

         ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานไม่สังกัดกระทรวง ทบวง กรม แต่เป็นองค์กรอื่นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แทน

          ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมอัยยการในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2485 ได้แบ่งส่วนราชการกรมอัยการเป็น 2 ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค โดยได้ให้กองอัยยการ เป็นราชการบริหารส่วนกลาง ถือได้ว่ามีกองอัยยการตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2485 ซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. 2535 เปลี่ยนชื่อกองอัยยการ เป็น สำนักงานคณะกรรมการอัยการในปัจจุบันนั่นเอง มีนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นเลขานุการ ก.อ. หรืออธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ (ตำแหน่งในปัจจุบัน) คนแรก