ข่าวประชาสัมพันธ์

การประชุมขับเคลื่อนประกาศเจตนารมณ์
ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ [NO GIFT POLICY] ของสำนักงานอัยการสูงสุด

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วันที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 13.00 – 14.00 น ณ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของ สคช.

       เนื่องจากสภาพปัญหามากมายหลายสาเหตุด้วยกัน ที่มีส่วนทำให้เกิดความเดือนร้อนแก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีฐานะยากจน หรือที่อยู่ในชนบทห่างไกล อาทิเช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการแย่งที่ดินทำกิน การกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎรในการใช้อำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม ฯลฯ สาเหตุต่าง ๆเหล่านี้ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนที่ถูกกระทำ ต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพและทรัพย์สินไป ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการแก้แค้น ประทุษร้ายต่อร่างกาย และชีวิตซึ่งกันและกัน การก่ออาชญากรรม ที่ทำให้สังคมอยู่กันอย่างหวาดผวา ไม่มีความผาสุก และเมื่อเกิดขึ้นมาก ๆ ก็จะมีผลกระทบ ต่อความมั่นคงของประเทศได้ ซึ่งภาวการณ์ดังกล่าว จากการศึกษาวิจัยก็ได้พบว่า มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความไม่รู้กฎหมาย ที่ทำให้คนส่วนหนึ่งมีการกระทำที่ละเมิด ต่อกฎเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งก็ไม่มีความรู้ ที่จะใช้กฎหมาย ในการปกป้องและพิทักษ์สิทธิหรือผลประโยชน์ของตน เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น ก็ทำให้รัฐต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนไม่น้อย ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จ
       อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการแก้ไขปัญหาสังคม โดยวิธีการปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วิถีทางที่ได้ผลอย่างแท้จริง วิธีการที่ดีที่ควรทำควบคู่กันไปก็คือ การส่งเสริมประชาชนให้มีความรู ้ ในสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมาย จะทำให้เกิดความสัมฤทธิ์ผล ในการลดปัญหาพิพาทขัดแย้งได้ในปริมาณที่มากกว่า ดังนั้น จากแนวความคิดดังกล่าว ได้นำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ในยุครัฐบาลของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้มีการจัดตั้งโครงการให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชน ชนบทในเขตยากจนขึ้น อันเป็นโครงการหนึ่ง ในแผนงานบริการขั้นพื้นฐาน ของแผนพัฒนาชนบทยากจน แล้วบรรจุโครงการนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) โดยในชั้นแรกได้มอบหมาย ให้สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ปฏิบัติ
       สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย ได้ดำเนินงานไปได้ระยะหนึ่ง ก็มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูป ระบบราชการ และระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ให้โอนโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ชนบทในเขตยากจน ให้สำนักงานอัยการสูงสุด (กรมอัยการในขณะนั้น) เป็นผู้ดำเนินการสืบต่อมา ก่อนหน้าที่จะได้รับโอนงานมานั้น กรมอัยการได้มีการดำเนินงานด้านการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ และ ผลประโยชน์ของประชาชนตามที่กฎหมาย กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของพนักงานอัยการอยู่แล้วโดย กรมอัยการได้มีคำสั่งที่ 174/2525 ลงวันที่ 15 กันยายน 2525 จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน (สคช.) ขึ้น โดยจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายใน ซึ่งเมื่อสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย ได้ส่งมอบงานตามโครงการให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ ประชาชนให้กรมอัยการทั้งหมด ในวันที่ 1 มิถุนายน 2527 กรมอัยการก็ได้มอบหมายงานตามโครงการฯ ให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนดำเนินงานมาตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา
       สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือเมื่อมีกรณีอันสมควร เข้าคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ ของประชาชนในประการอื่น ที่กฎหมายให้มีอำนาจดำเนินการได้ ตลอดจนดำเนินงาน  ให้บริการช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย แก่ประชาชนผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบท รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น 3 กอง คือ”
1) กองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2) กองช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
3) กองแผนและติดตามประเมินผล
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 เป็นต้นไป
ปัจจุบันนี้ ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549

ข้อ 15 (24) กำหนดให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชน มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชน และความรู้ทางกฎหมาย แก่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอรรถคดี การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชน ศึกษาวิจัย และพัฒนาระบบ รูปแบบ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการดังกล่าว

ผลการปฏิบัติงาน
       สคช. ได้รับการคัดเลือกและยกย่องให้เป็นหน่วยงานดีเด่นระดับชาติ สาขาพัฒนาสังคม พ.ศ. 2529 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัด ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกา ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (พ.ศ. 2509) และจากเหตุผลดังกล่าวได้มี การจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระดับชาติขึ้น โดนมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นแกน กลางในการจัดตั้งองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชน

 โครงสร้างของ สคช.
       สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชนสังกัดอยู่ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ดังนี้

ส่วนกลาง ประกอบด้วย
สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (ส่วนกลาง)
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 1 (รัชดาภิเษก)
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2 (หลักเมือง)
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 3 (ธนบุรี)
สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย 4 (มีนบุรี)

ส่วนภูมิภาค
       เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับการบริการทางกฎหมาย จากพนักงานอัยการโดยเสมอภาค และทั่วถึงกัน สำนักงานอัยการสูงสุดจึงมีคำสั่ง ให้จัดตั้งสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคดี จังหวัด (สคชจ.) ขึ้น โดยมีหน้าที่สำคัญคือ เผยแพร่และฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมาย และให้คำปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชน จัดหาทนายความช่วยเหลือในทางอรรถคดี แก่ประชาชนผู้ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนงานการประนอมข้อพิพาท งานคุ้มครองสิทธิทางศาลตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น การร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ฯลฯ

สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ในส่วนภูมิภาคประกอบด้วย
–  สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ภาค 1- 9 จำนวน 9 แห่ง
–  สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด (สคชจ.) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัด จำนวน 76 แห่ง
–  สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ประจำจังหวัดสาขา (สคชจ. สาขา) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัดประจำอำเภอ จำนวน 34 แห่ง

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์

วิสัยทัศน์ (Vision)
“องค์กรนำในการใช้กฎหมายเพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)
๑) ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจด้านการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
๒) พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
๓) เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทำงานที่สำคัญรวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
๔) พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรมจริยธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ ๑: การยกระดับคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ในการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด
ยุทธศาสตร์ที่ ๒: การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมและตอบสนองนโยบายรัฐบาล
ยุทธศาสตร์ที่ ๓: การยกระดับประสิทธิภาพระบบงานและการจัดการความรู้/นวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย
ยุทธศาสตร์ที่ ๔: การเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้มีขีดสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ

  1. รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิทางศาล ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง หรือศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เช่น ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก , ตั้งผู้อนุบาล, ขอรับบุตรบุญธรรม , ตั้งผู้ปกครอง, ตั้งผู้พิทักษ์ และขอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ
  2. รับผิดชอบการให้คำปรึกษา แนะนำ หรือให้ความเห็นทางกฎหมาย
  3. การตอบปัญหาทางด้านกฎหมายที่มีผู้สอบถามทางเว็บไซต์ หรืออีเมล์ของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
  4. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
  5. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

บุคลากร

ข้าราชการอัยการ

นายประพาส หนูเจริญ

อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ

นายวิทวัส เอี่ยมเจริญวิทย์

อัยการเชี่ยวชาญพิเศษ

นายเจษฎา ยอดแสง

อัยการผู้เชี่ยวชาญ

นางสกุณา พิทักษ์สิทธิ์

อัยการผู้เชี่ยวชาญ

นายโชคชัย พงษ์ปธาร

อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

นายชัยรัฐ ไชยโกมินทร์

อัยการอาวุโส

นายภาวิต พยัคฆบุตร

อัยการอาวุโส

นายสุเทพ ตันติรัศมี

อัยการอาวุโส

นายสมชัย เตชะเกิดกมล

อัยการอาวุโส

นางอมรรัตน์ มิตรไพบูลย์

อัยการอาวุโส

ข้าราชการธุรการ

นายนัทธวัฒน์ คงรักษ์ (นิติกรชำนาญการ)
นายสุชาครีย์ ฉิมพาลี (นิติกรปฏิบัติการ)
นางสาวสกุณา พันเลิศจำนรรจ์
(นิติกรปฏิบัติการ)
นางสาวสุธาดา ช่วยทอง
(นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ)
นางสาวเจียนัย แก่นพินิจ
(พนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์)
นางสาวรัชดาภรณ์
นาคสวัสดิ์
(พนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์)

โครงสร้างหน่วยงาน

เอกสารเผยแพร่

ขอตั้งผู้จัดการมรดก

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

  1. ทะเบียนบ้านของผู้ตาย
  2. ทะเบียนบ้านของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
  3. ใบมรณบัตรของผู้ตาย
  4. ใบมรณบัตรของบิดามารดาของผู้ตาย
  5. ทะเบียนสมรสของสามี หรือ ภรรยาของผู้ตาย
  6. ทะเบียนสมรส และ / หรือ ทะเบียนการหย่าของสามีภรรยาของผู้ตาย
  7. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล  ของทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
  8. สูติบัตรของบุตรของผู้ตาย
  9. บัตรประจำตัวข้าราชการ บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้ร้องขอฯ
  10. พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
  11. หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดก
  12. บัญชีเครือญาติ
  13. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดินและสัญญาจำนอง ทะเบียนรถจักรยานยนต์   ทะเบียนรถยนต์  อาวุธปืน   สมุดเงินฝากธนาคาร ใบหุ้น และ  อื่นๆ เป็นต้น
  14. บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวประชาชน และ  ทะเบียนบ้านของผู้ให้ความยินยอมทุกคน

หมายเหตุ :   จัดเตรียมสำเนาเอกสารทุกรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องจำนวน  3  ชุด  
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ สำนักงานอัยการสูงสุด  ถนนรัชดาภิเษก   แขวงจอมพล 
เขตจตุจักร กรุงเทพฯ  10900  โทรศัพท์ /โทรสาร  02 – 5154054  ,  02 – 5154061 

ขอตั้งผู้อนุบาล

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ/เสมือนไร้ความสามารถ 

  1. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง
  2. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้จะขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ/ เสมือนไร้ความสามารถ
  3. ทะเบียนสมรส (กรณีผู้ร้องกับผู้ป่วยเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย)
  4. ใบสูติบัตร (กรณีผู้จะขอให้เป็นคนไร้ฯ/เสมือนไร้ฯ เป็นบุตร)
  5. รายงานความเห็นของแพทย์ระบุชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร ขณะนี้มีสภาพเป็นอย่างไรโดยละเอียด
  6. หนังสือยินยอม บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้านของทายาท , ใบมรณบัตรทายาท
  7. รูปถ่ายผู้ป่วย (ปัจจุบัน) ประมาณ 4-6 รูป
  8. บัญชีเครือญาติของทายาท
  9. หลักฐานอื่นใดที่แสดงความเกี่ยวพันระหว่างผู้ร้องกับบุคคลที่จะร้องขอให้เป็นคนไร้ความสามารถ/เสมือนไร้ความสามารถ
  10. เอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดี (ถ้ามี)

หมายเหตุ :

  • สำเนาเอกสารอย่างละ 4  ชุด โดยรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย
  • เอกสารนี้ใช้เฉพาะสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก  แขวงจอมพล  เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร 10900
  • ระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับศาลนั้นๆ ซึ่งระยะเวลาอาจไม่แน่นอนตามสภาพข้อเท็จจริงแห่งคดี

ขอตั้งผู้ปกครอง

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการขอตั้งผู้ปกครอง/ถอน 

  1. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนผู้จะเป็นผู้ปกครอง
  2. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนผู้เยาว์
  3. สูติบัตรผู้เยาว์
  4. ทะเบียนสมรสของบิดามารดาผู้เยาว์ (ถ้ามี)
  5. ใบมรณบัตรของบิดามารดาผู้เยาว์ (กรณีบิดาหรือมารดาเสียชีวิต)
  6. หลักฐานใบแจ้งความ (กรณีผู้เยาว์ถูกทอดทิ้ง)
  7. หลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร (กรณีบิดาไม่มาจดทะเบียน)
  8. สำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาผู้เยาว์ที่ระบุไว้ในสูติบัตร (ถ้ามี)
  9. คัดที่อยู่บิดามารดาผู้เยาว์จากเขต (กรณีไม่สามารถติดต่อบิดามารดาของผู้เยาว์ได้)
  10. ใบทะเบียนสมรสผู้ร้อง (ถ้ามี)
  11. หนังสือยินยอมของสามี/ภริยาที่จะเป็นผู้ปกครอง (กรณีเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย)
  12. หนังสือให้ความยินยอมของผู้เยาว์ (กรณีที่ผู้เยาว์สามารถให้ความยินยอมด้วยตนเองได้)
  13. หลักฐานอื่นใดที่แสดงความเกี่ยวพันระหว่างผู้ร้องกับบุคคลผู้ที่จะร้องขอตั้งผู้ปกครอง
  14. เอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดี (ถ้ามี)

หมายเหตุ :

  • สำเนาเอกสารอย่างละ  4  ชุด โดยรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย
  • เอกสารนี้ใช้เฉพาะสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล  เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร 10900
  • ระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับศาลนั้นๆ ซึ่งระยะเวลาอาจไม่แน่นอนตามสภาพข้อเท็จจริงแห่งคดี

ขอรับบุตรบุญธรรม

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการรับบุตรบุญธรรม 

  1. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของบุตรบุญธรรม
  2. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับบุตรบุญธรรม
  3. สูติบัตรของบุตรบุญธรรม
  4. ใบทะเบียนสมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม (ถ้ามี)
  5. หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรสที่ให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม (กรณีชอบด้วยกฎหมาย)
  6. ใบมรณบัตรของบิดามารดาของบุตรบุญธรรม (กรณีถึงแก่กรรม)
  7. หลักฐานใบแจ้งความกรณีบุตรบุญธรรมไม่มีหลักฐาน (ถูกทอดทิ้ง)
  8. หลักฐานทางทะเบียนบ้านของบิดามารดาของบุตรบุญธรรม คัดที่อยู่บิดามารดาผู้เยาว์จากเขต ,ทะเบียนกลาง (กรณีติดต่อกับบิดามารดาของบุตรบุญธรรมไม่ได้)
  9. กรณีติดต่อบิดาหรือมารดาของบุตรบุญธรรม ได้เพียงคนใดคนหนึ่งต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาของบุตรบุญธรรมที่ติดต่อได้
  10. ในกรณีที่บุตรบุญธรรมมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องได้รับความยินยอมจากบุตรบุญธรรม
  11. เอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดี (ถ้ามี)

หมายเหตุ :

  • สำเนาเอกสารอย่างละ  4  ชุด โดยรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย
  • เอกสารนี้ใช้เฉพาะสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล  เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร 10900
  • ระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับศาลนั้นๆ ซึ่งระยะเวลาอาจไม่แน่นอนตามสภาพข้อเท็จจริงแห่งคดี

ขอศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ

เอกสารที่ต้องนำมายื่นจอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ

สำเนาทะเบียนบ้านของผู้สาบสูญ
สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ในกรณีที่ไม่มีทะเบียนบ้าน) ของบุคคลสาบสูญ
สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ใบสำคัญการสมรส ของผู้ร้อง
สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ใบสำคัญการสมรส (กรณีเป็นสามีหรือภรรยาของผู้สาบสูญ)
สำเนารายงานบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับแจ้งว่าบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นหายไปจากภูมิลำเนา
สำเนาเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ของผู้สาบสูญ หรือเอกสารใดๆ ที่จะต้องจัดการ

หมายเหตุ :

  • สำเนาเอกสารอย่างละ 4 ชุด โดยรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย
  • เอกสารนี้ใช้เฉพาะสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
  • ระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับศาลนั้นๆ ซึ่งระยะเวลาอาจไม่แน่นอนตามสภาพข้อเท็จจริงแห่งคดี

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ
สำนักงานอัยการสูงสุด  ชั้น 2
อาคารถนนรัชดาภิเษก  แขวงจอมพล  เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร  10900
โทรศัพท์ 02-5154061 , 02-5154054  โทรสาร 02-5154061
E-mail : protect@ago.go.th