ข่าวประชาสัมพันธ์

ภาพกิจกรรม

วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว พร้อมคณะ
เข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ครบรอบ ๗๒ ปี ณ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว
นำคณะผู้บริหารของสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว สำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบด้วยรองอธิบดีอัยการ

อัยการพิเศษฝ่าย และผู้อำนวยการศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว
เข้าพบและหารือข้อราชการกับท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (นายเผดิม เพ็ชรกูล)

เพื่อร่วมประสานการทำงานให้เกิดความยุติธรรมสูงสุดแก่ผู้ที่มาใช้บริการกับทั้ง ๒ หน่วยงาน

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว
เข้าร่วมประชุม “การขยายเครือข่ายและการจัดระบบบริการแบบครบวงจร (One stop crisis center)
สำหรับเด็กและสตรีได้รับความรุนแรง”
ณ ห้องประชุมบางกอก อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

พิธีถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖
เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมเล็ก จุณณานนท์ สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารหลักเมือง
โดยมี นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นประธานในพิธี

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว
เป็นผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานและเจ้าภาพเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ 3 “กัณฑ์ทานกัณฑ์”
โดยได้นำข้าราชการฝ่ายอัยการและบุคลากรสำนักงานอัยการสูงสุด รับฟังเทศน์มหาชาติเนื่องในสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา
วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2566
ณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ (ท่าพระจันทร์) เขตพระนคร

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566 สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๖
โดย อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นประธานในพิธี
พร้อมข้าราชการฝ่ายอัยการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารหลักเมือง)

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๖ นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว พร้อมคณะ
เข้าเยี่ยมคารวะ ท่านโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา คนที่ ๔๘ ณ ห้องรับรองศาลฎีกา

เมื่อวันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. นายสุรศักดิ์ บุญเพิ่ม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว
นำคณะผู้บริหารของสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว สำนักงานอัยการสูงสุด ประกอบด้วยรองอธิบดีอัยการ

อัยการพิเศษฝ่าย และผู้อำนวยการศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว
เข้าพบและหารือข้อราชการกับท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (นายรัฐธีย์ ยมจินดา)

โดยมีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ทั้ง ๓ ท่าน คือ นายภีม ธงสันติ นางดวงใจ นาคินทร์ ใจจันทร์เดือน
และนายนพพร วิวัฒนาภรณ์ พร้อมทั้งเลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (นายลักษณ์พงศ์ จันทระ)
เพื่อร่วมประสานการทำงานให้เกิดความยุติธรรมสูงสุดแก่ผู้ที่มาใช้บริการกับทั้ง ๒ หน่วยงาน

วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว
และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ให้การต้อนรับ
ท่านนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ในการเดินทางมาสักการะพระพุทธอัยการมงคลโลกนาถ
พระไพศรพณ์ และศาลตายาย ณ สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารหลักเมือง
พร้อมทั้งได้เดินทางไปสักการะศาลหลักเมือง และพระแก้วมรกต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว โดย นายเวโรจน์ วงษ์สุรกูล อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 4
ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นประธานในพิธีเชิญธงชาติ พร้อมกับร้องเพลงชาติไทย
ร่วมกับข้าราชการฝ่ายอัยการสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว และสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 08.00 น. ณ บริเวณดาดฟ้าอาคารสำนักงานอัยการสูงสุด อาคารหลักเมือง
เนื่องในวันธงชาติไทย

งานแสดงมุทิตาจิตแด่อัยการอาวุโสที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2565
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ณ ห้องอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว

สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว โดยศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว
ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพนักงานอัยการและนิติกรในการขับเคลื่อนงาน
ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัวของสำนักงานอัยการภาค ๔ และสำนักงานอัยการภาค ๖ ลงสู่ในระดับจังหวัดและระดับตำบล
ระหว่างวันที่ ๗ – ๙ กันยายน ๒๕๖๕ ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัล ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว ร่วมกับสถาบันนิติวัชร์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน ณ ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร
ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา
ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันที่ ๒๒ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ และระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ ตามลำดับ
โดยมี อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว (นางสาวบุศยา ณ ระนอง)
และรองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว (นางวรรณภามาศ จรูญโรจน์) เป็นประธานในพิธีเปิด

สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕
โดย อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นประธานในพิธี
พร้อมข้าราชการฝ่ายอัยการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด อาคารหลักเมือง

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว

วิสัยทัศน์ พันธกิจ

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”


พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


โครงสร้าง (Structure)

โครงสร้างสำนักงาน

วัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กร

อำนาจหน้าที่

บทความ

บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก

หลักเบื้องต้นในการคุ้มครองเด็กตามกฎหมาย

โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจกันดีว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูลูกหรือเด็กที่อยู่ในความปกครอง ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ในสภาพความเป็นจริง ยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองหลายครอบครัวที่ไม่ทำหน้าที่หรือบกพร่องต่อหน้าที่ในการดูแลเด็กหรือเลี้ยงดูเด็กโดยมิชอบ ผลร้ายย่อมตกแก่เด็ก

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองเด็กไว้ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นกฎหมายที่ดีมีประโยชน์อย่างมาก สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมให้มีการดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ในกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่อุปการเลี้ยงดูและคุ้มครองเด็กที่อยู่ในความปกครองให้ปลอดภัย หากพ่อแม่ผู้ปกครองใดไม่ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่ขาดตกบกพร่องหรือให้การเลี้ยงดูโดยมิชอบ กฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือคุ้มครองดูแลเด็กแทน โดยการสงเคราะห์เด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และการส่งเสริมความประพฤติเด็ก จนกว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะพร้อมทำหน้าที่หรือจนกว่าเด็กจะมีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์ ทั้งนี้เพราะในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ กำหนดว่าเด็กหมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์

ลองมาดูว่ากฎหมายนี้ได้กำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่ในการดูแลเด็กอย่างไร หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่บกพร่องหรือให้การเลี้ยงดูโดยมิชอบแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กอย่างไร

พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองเด็กอย่างไร

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้กำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องดูแลและปฏิบัติต่อเด็กที่อยู่ในความปกครอง ดังนี้
1. อุปการะเลี้ยงดู  ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่นเพื่อให้การสงเคราะห์เด็กให้ดำรงชีวิตอยู่ได้
2. อบรมสั่งสอน ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่นเพื่อให้เด็กมีความประพฤติที่เหมาะสม
3. พัฒนาเด็ก ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยและตามศักยภาพของเด็ก
4. คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ให้เด็กมีความปลอดภัย ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ

ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทำหน้าที่ดูแลเด็กหรือทำหน้าที่บกพร่องหรือให้การเลี้ยงดูโดยมิชอบจะมีผลอย่างไร

ในกรณีที่เด็กไม่มีพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือมีแต่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ดูแลตามหน้าที่ เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือเด็กพลัดหลง หรือเด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้ด้วยเหตุใดๆ เช่น  เพราะถูกจำคุก  ถูกกักขัง พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง ยากจน เป็นผู้เยาว์ เป็นโรคจิตโรคประสาท เป็นต้น หรือเด็กที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีพฤติกรรมหรือประกอบอาชีพไม่เหมาะสม หรือให้การเลี้ยงดูโดยมิชอบ หรือเด็กพิการ เป็นต้น ถือว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่บกพร่อง ในกรณีนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กที่รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่งตั้ง หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายนี้ อันได้แก่ ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการเขต นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจเข้าไปดำเนินการคุ้มครองเด็กเหล่านั้นแทนพ่อแม่ผู้ปกครองได้ โดยให้อำนาจนำเด็กไปอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน พัฒนาเด็ก ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีความพร้อมที่จะดูแลเด็กได้หรือจนกว่าเด็กจะมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์ กระบวนการช่วยเหลือนี้เรียกว่า การสงเคราะห์เด็ก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สำหรับเด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถคุ้มครองดูแลให้ได้รับความปลอดภัย หรือไม่ให้เด็กตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือเด็กที่ถูกพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้กระทำทารุณกรรมเสียเอง ถือว่าเป็น เด็กที่ถูกทารุณกรรม  ส่วนเด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย ถือได้ว่าเป็น เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด เด็กทั้งสองประเภทหลังนี้ต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กหรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และมีอำนาจเข้าไปดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กแทนพ่อแม่ผู้ปกครอง กระบวนการช่วยเหลือนี้เรียกว่า การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่นเดียวกัน

กฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กหรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ในการคุ้มครองเด็กแทนพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างไร

ในกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กไม่ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กหรือทำหน้าที่บกพร่องหรือให้การเลี้ยงดูโดยมิชอบ กฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กหรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ดำเนินการคุ้มครองเด็กแทนพ่อแม่ผู้ปกครองได้ อันได้แก่ การสงเคราะห์เด็ก การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และการส่งเสริมความประพฤติเด็ก

กระบวนการสงเคราะห์เด็ก

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กหรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ได้รับแจ้งหรือพบเห็นเองว่าเด็กพึงได้รับการสงเคราะห์เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กไม่ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กหรือทำหน้าที่บกพร่องหรือให้การเลี้ยงดูโดยมิชอบหรือเด็กไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยดูแล  พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น มีอำนาจหน้าที่ให้การสงเคราะห์ชั่วระยะหนึ่ง จนกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีความพร้อมที่จะดูแลเด็กได้เอง หรือจนกว่าเด็กจะมีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์ ดังนี้

1. ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัว ให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ เช่น ฝึกหัดอาชีพ ให้เงินสงเคราะห์ รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำแก่พ่อแม่ผู้ปกครองตามสมควร

2. ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวได้ เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีหรือมีแต่ไม่สามรถทำหน้าที่ได้ เพราะกายพิการ ถูกจำคุก มีความประพฤติไม่เหมาะสมที่จะดูแลเด็กได้ เป็นต้น พนักงานเจ้าหน้าที่นั้นจะมอบเด็กให้ผู้เหมาะสมและยินยอมดูแลเด็กไว้ชั่วคราวไม่เกิน ๑ เดือนก่อนก็ได้แล้วหาทางช่วยเหลือด้วยวิธีการอื่นต่อไป

3. ดำเนินการให้เด็กได้เป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

4. ส่งเด็กที่มีอายุไม่เกินหกขวบเข้ารับการอุปการะในสถานรับเลี้ยงเด็กที่ยินยอมรับเด็กไว้อุปการะ

5. มอบเด็กให้ครอบครัวอุปถัมภ์ที่ยินยอมรับเด็กไว้อุปการะเลี้ยงดูอย่างบุตร

6. ส่งเด็กเข้ารับการอุปการะในสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์  สถานพัฒนาและฟื้นฟู ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู การศึกษา การฝึกหัดอาชีพ การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ

7. ส่งเด็กเข้ารับการศึกษากล่อมเกลาจิตใจทางศาสนาในวัดหรือสถานที่ทางศาสนาอื่นที่ยินยอมรับเด็กไว้

8. กรณีสงเคราะห์ตามข้อ 4,5,6หรือ 7 ต้องได้รับความยินยอมของพ่อแม่ผู้ปกครอง หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ ให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจส่งเด็กเข้ารับการสงเคราะห์ตามวิธีการดังกล่าวได้

9. ในกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งสงเคราะห์เด็กของปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ก็มีสิทธิมีคดีขึ้นสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง เพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งสงเคราะห์เด็กดังกล่าว

กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรม

พนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กหรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เฉพาะกรณีนี้ให้รวมถึงพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจด้วย เมื่อได้รับแจ้งหรือพบเห็นหรือประสบพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่ามีการกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีอำนาจดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กโดยเร็วที่สุด ดังนี้

1. เข้าไปในสถานที่ใดๆเพื่อตรวจค้นและแยกตัวเด็กจากครอบครัวของเด็กเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

2. รีบจัดให้มีการตรวจรักษาร่างกายและจิตใจเด็กทันที

3. ทำการสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวเพื่อหาวิธีคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เหมาะสม

4. ส่งเด็กไปสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานพัฒนาและฟื้นฟู ตามความจำเป็นและเหมาะสมได้ไม่เกิน ๗ วันระหว่างทำการสืบเสาะและพินิจ แต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของเด็กอาจร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งขยายเวลาออกไปรวมทั้งสิ้น ๓๐ วัน

5. กรณีที่ผู้ปกครองหรือญาติของเด็กเป็นผู้กระทำทารุณกรรมต่อเด็กไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีหรือไม่ ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อหรือมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการกระทำทารุณกรรมต่อเด็กอีก ก็ขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวออกคำสั่งมิให้กระทำการดังกล่าวอีก โดยกำหนดมาตรการคุมความประพฤติผู้นั้น ห้ามเข้าเขตกำหนด ห้ามเข้าใกล้ตัวเด็กในระยะที่ศาลกำหนด และอาจให้ผู้นั้นทำทัณฑ์บนหรือเรียกประกันด้วยก็ได้

6. ทำการสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวแล้ว หากเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองยังดูแลเด็กให้ปลอดภัยได้หรือไม่มีเหตุต้องคุ้มครองสวัสดิภาพก็ให้คืนเด็กแก่พ่อแม่ผู้ปกครองไป แต่หากเห็นสมควรต้องกำหนดวิธีคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กนั้น ต้องทำรายงานเสนอความเห็นเกี่ยวกับวิธีการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีโดยมิชักช้าเพื่อสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป

7. ในกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของปลัดกระทรวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีสิทธิมีคดีขึ้นสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง เพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ

กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กหรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กพบเห็นเองหรือได้รับแจ้งจากผูพบเห็นเด็กเสี่ยงต่อการกระทำผิด กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว รวมทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว ความเป็นอยู่ การเลี้ยงดู อุปนิสัย และความประพฤติของเด็ก   

2. พิจารณาดำเนินการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด หรือคืนพ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลที่ยินยอมรับเด็กไปดูแล

3. กรณีที่เห็นว่ายังไม่สมควรสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ก็ให้คืนพ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลที่ยินยอมรับเด็กไปดูแลโดยวางข้อกำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลที่ยินยอมรับเด็กไปดูแลปฏิบัติด้วยความยินยอมเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีความประพฤติเสียหาย และจะตั้งผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กเพื่อกำกับดูแลเด็กด้วยก็ได้ ดังนี้

3.1 ระวังไม่ให้เด็กเข้าสถานที่จูงใจให้เด็กเสีย/ออกนอกที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน/คบหาบุคคลที่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย/กระทำการใดในทางเสียหาย

3.2 จัดให้เด็กได้รับการศึกษา/ประกอบอาชีพเหมาะสม/ทำกิจกรรมพัฒนาตนเอง ด้านคุณธรรม จริยธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

เมื่อทราบบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองตามที่กฎหมายได้กำหนดแล้ว หวังว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะทำหน้าที่ให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น และสามารถคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนให้ปลอดภัยมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม                                                                                          

นายสาโรช นักเบศร์
อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการสูงสุด
ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็กและสถาบันครอบครัว 

ความรู้เบื้องต้นทางกฎหมายและข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายนี้

นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ประเทศไทยได้มีกฎหมายที่ใช้บังคับในเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นการเฉพาะ อันเป็นเครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่งในการแก้ปัญหาครอบครัว โดยกำหนดให้ผู้ที่ทราบหรือพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวใดก็ตาม ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นทุกคนควรได้รับรู้อย่างน้อยในหลักการเบื้องต้นของกฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ของทุกคนในครอบครัว ดังนี้

(1) ความรุนแรงในครอบครัว 

หมายถึงการกระทำต่อบุคคลในครอบครัวเดียวกันโดยเจตนาที่มีลักษณะต่อไปนี้
(1.1) การกระทำที่มุ่งร้ายต่อร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว    ตัวอย่างเช่น

  • การมุ่งร้ายต่อร่างกายบุคคลในครอบครัว ทุบตี เตะต่อย ขว้างปาสิ่งของทำร้ายร่างกายหรือพยายามทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะมีบาดแผลหรือไม่ก็ตาม
  • การมุ่งร้ายต่อจิตใจบุคคลในครอบครัว ทำร้ายจิตใจจะต้องมีผลร้ายแรงถึงขนาดเป็นผลกระทบต่อจิตใจทำให้สูญเสียการควบคุมจิตใจแม้ชั่วขณะหนึ่ง เช่น มีอาการหวาดกลัวหวาดระแวงเกินกว่าเหตุบ่อยๆ เสียสติแม้เพียงชั่วขณะ หรือเป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น แต่ไม่ใช่การเสียใจ เศร้าใจ คับแค้นใจ โกรธ โมโห ฉุนเฉียว โดยทั่วไป
  • การมุ่งร้ายต่อสุขภาพของบุคคลในครอบครัว ทำให้เสียสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ผสมสารพิษให้ดื่มทำให้เจ็บป่วยหรือหมดสติ ให้เสพยาเสพติด เป็นต้น

(1.2) การกระทำที่มิได้มุ่งร้ายต่อร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพโดยตรง แต่ผลจากการกระทำนั้นน่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว เช่น การคุกคาม ข่มขู่หรือข่มเหงรังแกบุคคลในครอบครัวให้หวาดกลัวหวาดระแวง หรือการทอดทิ้งบุคคลในครอบครัวที่เป็นเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือคนชราที่พึ่งตนเองไม่ได้และตนมีหน้าที่ต้องดูแล จนน่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัวนั้นได้ เป็นต้น

(1.3) การบังคับหรือครอบงำผิดทำนองผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำโดยมิชอบ เช่น การกักขัง บังคับหรือครอบงำให้ไปขายบริการทางเพศ ไปขอทาน ไปลักทรัพย์ ให้เกลียดชังพ่อแม่ บังคับหรือครอบงำเพื่อกระทำชำเรา เป็นต้น

(2) บุคคลในครอบครัว

หมายถึงสามีภรรยาทั้งที่จดทะเบียนสมรสและไม่ได้จดทะเบียนสมรส และทั้งที่อยู่กินกันหรือหย่าหรือแยกกัน บุตร บุตรบุญธรรม พ่อแม่ พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ลูกเลี้ยง พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง เป็นต้น

(3) ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดทางอาญามีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน หกเดือน ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นความผิดที่ยอมความได้

ถ้าความผิดนั้นไม่ร้ายแรงเกินกว่าการทำร้ายร่างกายที่มีบาดแผลเลือดตกยางออก แต่ไม่ถึงกับต้องรักษาบาดแผลเกินกว่ายี่สิบวันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี

(4) กฎหมายนี้กำหนดให้ใช้มาตรการทางสังคมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวให้ได้รับความปลอดภัยไม่ถูกกระทำซ้ำ และเพื่อปรับพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวไม่ให้ใช้ความรุนแรงอีกต่อไป
มาตรการทางสังคมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพนี้ มี 3 ลักษณะ ได้แก่

(4.1) มาตรการคุ้มครองเบื้องต้น มาตรการนี้มุ่งให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแจ้งเหตุเข้าไปในเคหสถานเพื่อช่วยเหลือระงับเหตุ ช่วยเหลือให้ได้รับการเยียวยารักษาจากแพทย์หรือได้รับคำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ หรือทางกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยละเอียดเพื่อหามาตรการคุ้มครองป้องกันและแก้ไขต่อไป 

(4.2) มาตรการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวระหว่างดำเนินคดี มาตรการนี้มุ่งคุ้มครองป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวถูกกระทำซ้ำอีก เมื่อมีการร้องทุกข์ดำเนินคดีนอกจากผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพเบื้องต้นแล้ว ยังจะได้รับการคุ้มครองบรรเทาทุกข์เพื่อป้องกันการกระทำซ้ำในระหว่างการสอบสวนและในระหว่างการพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หรือศาลอาจสั่งให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวไปรับการตรวจจากแพทย์ หรือห้ามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเข้าใกล้ตัว หรือห้ามเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยขณะที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพักอาศัยอยู่ ตามระยะเวลาที่เห็นสมควร  หากผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวฝ่าฝืนจะได้รับโทษทางอาญาอีกกระทงหนึ่ง

(4.3) มาตรการปรับพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว มาตรการนี้มุ่งที่จะปรับพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับบุคคลในครอบครัวมาตรการนี้สามารถนำมาใช้ได้ในสองกรณี โดยในกรณีที่หนึ่ง เมื่อมีการดำเนินคดีอาญาแล้วต่อมามีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้อง ในชั้นสอบสวนหรือในชั้นศาล ในกรณีที่สองเมื่อศาลศาลพิพากษาว่าผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวมีความผิด ศาลเห็นควรให้โอกาสปรับตัว โดยทั้งสองกรณีผู้นั้นอาจไม่ต้องรับโทษแต่ต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปรับพฤติกรรมในระยะเวลาตามที่พนักงานสอบสวนหรือศาลกำหนด โดยผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องเข้ารับการฟื้นฟูบำบัดทางร่างกายหรือจิตใจ การคุมความประพฤติ การละเว้นการกระทำที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงในครอบครัว การชดใช้เงินบรรเทาทุกข์เบื้องต้น การทำงานบริการสังคม การทำทัณฑ์บน  ตามแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวจะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษทางอาญาต่อไป

(5) กรณีที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากเด็กจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ แล้วกฎหมายได้กำหนดให้ใช้มาตรการคุ้มครองเด็กสวัสดิภาพโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ได้แก่มาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกทำทารุณกรรม โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กมีอำนาจเข้าไปในเคหสถานเพื่อช่วยเหลือระงับเหตุ ช่วยเหลือให้ได้รับการเยียวยารักษาจากแพทย์หรือได้รับคำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ หรือทางกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยละเอียด และมีอำนาจแยกเด็กออกไปจากการปกครองดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองชั่วคราวได้เพื่อความปลอดภัยของเด็กและเพื่อหามาตรการคุ้มครองป้องกันและแก้ไขต่อไป

(6) การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

ในกรณีที่มีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวขึ้นมาแล้ว และปรากฏพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวซ้ำอีก ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีสิทธิ์ร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพได้ แต่หากผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลได้เอง กฎหมายกำหนดให้ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือองค์กรซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือครอบครัว ร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลแทนได้ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนาหรือศาลที่มูลเหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ออกคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพโดยห้ามผู้ถูกกล่าวหากระทำการดังต่อไปนี้ เสพสุราหรือสิ่งมึนเมา เข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ร้อง ใช้หรือครอบครองทรัพย์สินหรือกระทำการอันใดอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว เป็นระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรแต่ต้องไม่เกินหกเดือน และศาลอาจกำหนดให้เข้ารับการปรึกษาแนะนำจากศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำหรือสถานพยาบาลหรือหน่วยงานตามที่ศาลกำหนด

2. ข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป

(1)  เฝ้าระวังและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
กฎหมาย (ม.5)  กำหนดให้ผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  มีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีการดำเนินการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

วิธีการแจ้งเหตุ แจ้งด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด

สถานที่รับแจ้งเหตุ ได้แก่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม oscc 1300 ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) บ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด หรือสถานีตำรวจทุกแห่ง ที่วาการอำเภอทุกแห่ง ที่ทำการกำนันผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น อบต. อบจ. เทศบาล,มูลนิธิหรือสมาคมที่ทำงานด้านเด็กสตรีและครอบครัว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมิให้ต้องได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ และไม่เพิกเฉย ไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัวขอผู้อื่นอีกต่อไป

หากผู้ที่พบเห็นหรือทราบไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีความผิดใด แต่จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ทราบเหตุและไม่อาจดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพให้แก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้ทันต่อเหตุการณ์

(2) ให้ความช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
สำหรับเครือข่ายภาคประชาชน หรือผู้ที่มีจิตอาสา นอกจากการเฝ้าระวังแจ้งเหตุแล้วอาจอาสาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้ตามความจำเป็นหรือตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ เช่น ขอให้ช่วยระงับเหตุความรุนแรงในครอบครัว ช่วยจัดส่งผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวให้ได้รับการเยียวยารักษา ช่วยทำการเจรจาไกล่เกลี่ย  หรือช่วยติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพ เป็นต้น

3. ข้อควรรู้และปฏิบัติสำหรับผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

(1) แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

การแจ้งเหตุเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพให้แก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในเบื้องต้นเช่น ช่วยเหลือระงับเหตุ ช่วยเหลือให้ได้รับการเยียวยารักษาหรือได้รับคำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือทางด้านจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ หรือด้านกฎหมาย  เป็นต้น

(2) ใช้สิทธิร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัว

ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีสิทธิร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาล
เยาวชนและครอบครัวได้ตลอดเวลาที่น่าเชื่อว่าจะมีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวซ้ำอีก ไม่ว่าจะมีร้องทุกข์ดำเนินคดีหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนเมื่อพบว่าผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวมีพฤติการณ์น่าจะกระทำความรุนแรงในครอบครัวอีก ศาลมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพให้แก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้ โดยสั่งให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว
1) ห้ามเสพสุราหรือสิ่งมึนเมา
2) ห้ามเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ร้อง
3) ห้ามใช้หรือครอบครองทรัพย์สิน
4) ห้ามกระทำการใดอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว เป็นระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรแต่ไม่เกินหกเดือน
หากผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลมีอำนาจออกหมายจับมาขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งแต่ไม่เกินหนึ่งเดือนได้
ในระหว่างที่มีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ ศาลอาจสั่งให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในกรณีที่มีการจดทะเบียนสมรส หรือจ่ายเงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นในกรณีที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรส ให้แก่อีกฝ่ายตามที่เห็นสมควรด้วย
ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอต่อศาลได้เอง กฎหมายกำหนดให้ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดร้องขอแทนได้

(3)  ใช้สิทธิร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว

หากผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว จะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ เมื่อร้องทุกข์แล้วผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวนอกจากจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพในเบื้องต้นจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๑ (๔.๑) แล้วจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำซ้ำระหว่างดำเนินคดีโดยคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นใหญ่หรือศาล ตามข้อ ๑ (๔.๒) ต่อมาระหว่างดำเนินคดีหากจะยอมความ ถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้อง ก็ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดที่ยอมความได้ แต่คดียังไม่ถึงที่สุดโดยพนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณีว่าคดีอยู่ในชั้นใด จะเรียกคู่กรณีมาทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวปรับพฤติกรรมด้วยการเข้ารับการฟื้นฟู บำบัดรักษา คุมความประพฤติ ชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ทำงานบริการสังคม ละเว้นการกระทำที่เป็นต้นเหตุให้ใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือทำทัณฑ์บน ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้ได้เสียก่อน คดีจึงจะถึงที่สุด

4. ข้อควรรู้และปฏิบัติสำหรับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว

ผู้ที่กระทำความรุนแรงกับบุคคลในครอบครัวจะได้รับผลตามกฎหมาย โดยตกเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  นอกจากนี้จะต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมโดยคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หรือโดยคำสั่งศาลเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพให้แก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ป้องกันมิให้มีการกระทำซ้ำ หากฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะต้องได้รับโทษฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานหรือขัดคำสั่งศาลอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และอาจถูกควบคุมให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช้ความรุนแรงกับบุคคลในครอบครัวอีกในกรณีที่ศาลเห็นว่าควรใช้มาตรการแทนการลงโทษ หรือในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวยอมความ ถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้อง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการปรับพฤติกรรมก็จะต้องได้รับโทษ

ดังนั้นผู้ที่จะใช้ความรุนแรงกระทำต่อบุคคลในครอบครัวควรจะรับรู้ข้อกฎหมายนี้ และหลีกเลี่ยงการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทุกกรณี หรือหากตกเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวแล้ว ควรร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมที่พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน หรือศาลกำหนดและไม่กระทำความรุนแรงในครอบครัวซ้ำอีก

นายสาโรช นักเบศร์
อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการสูงสุด
ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็กและสถาบันครอบครัวกลาง

ติดต่อหน่วยงาน